วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ ป.อ.ปยุตโต

อะไรเป็นจุดต้นกำเนิดของวิทยาศาสตร์  ไม่ว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติก็ดี  สังคมศาสตร์ก็ดี  ว่ากันตามจริงแล้ว  มันมีฐานอยู่ที่คุณค่าทางจิตใจทั้งนั้น  ยกตัวอย่างเช่น  เศรษฐศาสตร์  เศรษฐศาสตร์นี้เริ่มด้วยอะไร  ฐานของมันคืออะไร  ก็คือความต้องการ ตัวกำหนดของเศรษฐศาสตร์ก็คือความต้องการ  ความต้องการนี้เป็นอะไร  เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยประสาททั้ง ๕ หรืออินทรีย์ ๕ หรือเปล่า  ก็ไม่ใช่  มันเป็นเรื่องของจิตใจ  เป็นเรื่องของคุณค่า  แต่ศาสตร์ที่พยายามเป็นวิทยาศาสตร์ก็จะบอกว่า  ฉันไม่เกี่ยวกับคุณค่า  เป็น value-free  แต่มันไม่ value-free ได้จริงสักที
ทีนี้ในแง่ของตัววิทยาศาสตร์เองละ  จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์อยู่ที่ไหน  จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์คือความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติ  คำตอบนี้นักวิทยาศาสตร์เองก็ยอมรับ  ที่แท้นั้นมันเป็นคำตอบของนักวิทยาศาสตร์เองด้วยซ้ำ
ความใฝ่รู้ต่อความจริงของธรรมชาติ  ซึ่งเป็นความคิดหมายใฝ่ฝันอยู่ในใจ  พร้อมด้วยความเชื่อว่าในธรรมชาติมีกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลที่สม่ำเสมอแน่นอน  สองประการนี้แหละเป็นฐานที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มประกอบกิจกรรมในการค้นคว้าศึกษา  หาความรู้ที่อยู่เบื้องหลังของธรรมชาติ
เพราะฉะนั้น  จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์อยู่ที่ใจของมนุษย์  อยู่ที่ความใฝ่รู้และศรัทธาหรือความเชื่อ  ถ้าปราศจากคุณสมบัติของจิตใจอย่างนี้แล้ว  วิทยาศาสตร์จะไม่เกิดขึ้น  และไม่เจริญงอกงาม
นักวิทยาศาสตร์ใด  ยิ่งมีความใฝ่รู้อย่างนี้บริสุทธิ์แรงกล้าและมีความเชื่ออย่างนี้อย่างแรงกล้า  นักวิทยาศาสตร์นั้นก็จะยิ่งสร้างความเจริญให้แก่วิทยาศาสตร์ได้มาก  แต่ไม่ใช่เท่านี้  ยังมีอะไรอย่างไรต่อไป  เราจะพูดเป็นขั้น ๆ ตอนนี้เริ่มด้วยความใฝ่รู้ก่อน  ว่าจุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์  คือความใฝ่รู้ใจความจริงของธรรมชาติ
ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในยุคต้น ๆ ที่ยังกระเส้นกระสายอยู่นั้น  มีจุดเริ่มอยู่ที่ความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติ  ซึ่งเป็นความใฝ่รู้ที่เรียกได้ว่าบริสุทธิ์พอสมควร
แม้ว่าต่อมาความใฝ่รู้อันนี้จะถูกกดดันด้วยแรงบีบคั้นของศาสนจักรในสมัยกลางหรือยุคมืด  ถึงกับว่าทางศาสนจักร คือ ทางศาสนาคริสต์นั้นได้ตั้งศาลไต่สวนศรัทธาที่เรียกว่า  Inquisition  ขึ้นมา  เพื่อเอาคนที่แสดงความสงสัยในคัมภีร์ศาสนา  หรือพูดจาแสดงความไม่เชื่อในคำสอนของศาสนา  ไปขึ้นศาลพิจารณาโทษ  อย่างกาลิเลโอ  ไปพูดเรื่องโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ขึ้นมา  ก็ถูกจับขึ้นศาลไต่สวนศรัทธา  หรือ Inquisition  นี้  จวนจะถูกบังคับลงโทษให้ดื่มยาพิษ  เสร็จแล้วกาลิเลโอสารภาพผิด  ก็เลยพ้นโทษไป  ก็เลยไม่ตาย  แต่อีกมากมายหลายคนถูกเผาทั้งเป็น
ในยุคนั้น  ก็เป็นอันว่าได้มีการปฏิบัติที่ถือได้ว่าเป็นการบีบคั้นปิดกั้นการแสวงหาความจริงในธรรมชาติกันเป็นอย่างมาก  แต่ยิ่งบีบก็ยิ่งดิ้น  เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่า  จากแรงกดดันในยุคมืดนั้น  ก็ทำให้ความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาตินั้นยิ่งแรงกล้ามากขึ้น  แล้วก็ฝังติดเป็นนิสัยของชาวตะวันตกสืบมาจนปัจจุบัน  หรืออย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่ง  อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาสังเกต
อย่างไรก็ตาม  แรงจูงใจอย่างที่ว่ามานี้  ก็ยังถือว่าเป็นความใฝ่รู้ที่บริสุทธิ์  แต่เรื่องของวิทยาศาสตร์ที่เป็นมาจนถึงปัจจุบันนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น  วิทยาศาสตร์ที่เป็นมาและเป็นไปอยู่ในปัจจุบันนี้  มีประวัติแห่งการที่ได้รับอิทธิพลครอบงำจากระบบคุณค่าใหญ่ ๒ อย่าง  ซึ่งเป็นแนวคิด เป็นทัศนคติ เป็นค่านิยม เป็นแรงจูงใจที่พ่วงแฝงอยู่เบื้องหลังความเจริญของวิทยาศาสตร์ตลอดมา  และเป็นตัวผลักดันกิจกรรมในการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์  ตลอดจนกำหนดวิถีและทิศทางของความเจริญก้าวหน้าในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เรื่อยมา
คุณค่าใหญ่ ๒ ตัวนี้คืออะไร ?  ตอบว่า คือ
.   ความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ  หรือความเข้าใจว่า  ความสำเร็จของมนุษย์อยู่ที่การพิชิตธรรมชาติหรือเอาชนะธรรมชาติความคิดนี้เกิดจากการที่ชาวตะวันตกมีความเข้าใจว่า  มนุษย์เรานี้  เป็นผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างมา  ในฉายาของพระองค์  คือในรูปแบบของพระองค์  เสมือนแม้นพระองค์  ให้มาครองโลก ครองธรรมชาติ  พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างธรรมชาติ  สร้างสรรพสิ่ง  สร้างสรรพสัตว์ทั้งหลาย  คือเดรัจฉานต่าง ๆ ขึ้นมานี้  เพื่อให้มารับใช้สนองความปรารถนาของมนุษย์  เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงเป็นใหญ่  เป็นศูนย์กลางของจักรวาล  เป็นเจ้า  เป็นผู้ครอบครอง
มนุษย์เรียนรู้ความลึกลับของธรรมชาติ  ก็เพื่อจะได้มาจัดการกับธรรมชาติ  มาปั้นแต่งธรรมชาติให้เป็นไปตามปรารถนาของตนเองตามใจชอบ  เรียกว่าให้ธรรมชาติรับใช้มนุษย์
ตำราฝรั่งถึงกับบอกว่า  แนวความคิดอันนี้แหละที่อยู่เบื้องหลังความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของตะวันตก  เขาบอกว่า  แต่ก่อนนี้ในยุคโบราณนั้น  ตะวันออก เช่น จีน และอินเดีย  มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากกว่าประเทศตะวันตก  แต่ด้วยอาศัยแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติอันนี้  จังได้ทำให้ตะวันตกเจริญล้ำหน้าตะวันออกในทางวิทยาศาสตร์มาได้จนปัจจุบัน
แต่ในปัจจุบันนี้  แนวความคิดนี้กำลังเป็นปัญหา  เป็นปัญหาอย่างไรก็คงจะได้ว่ากันต่อไป
เป็นอันว่า  ระบบคุณค่าใหญ่ที่ ๑ คือแนวคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ  ซึ่งปรากฏออกมาเป็นแรงจูงใจในรูปของความใฝ่ปรารถนาที่จะพิชิตธรรมชาติ  ต่อจากนี้ก็เป็นประการที่สอง
๒.   ความเชื่อว่า  ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อม
อันนี้ก็เป็นความคิดที่สำคัญเหมือนกัน  แนวคิดนี้พ่วงมากับการพัฒนาอุตสาหกรรม  แต่เดิมนั้น  อุตสาหกรรมในประเทศตะวันตกเกิดขึ้นมา  จากแรงจูงใจและความคิดในการที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลน  อันนี้เป็นประวัติศาสตร์ของสังคมตะวันตกเอง คือ การที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลน  หรือ scarcity เพราะว่าในโลกตะวันตกนั้น  ชีวิตถูกบีบคั้นด้วยธรรมชาติมาก เช่น ในฤดูหนาว พืชพันธุ์ธัญญาหารก็ไม่มี  เกิดไม่ได้  มนุษย์ต้องอยู่ด้วยความยากลำบากเหลือเกิน  นอกจากอากาศหนาวเหน็บแก่ตัวเองแล้ว  ยังหาอาหารได้ยากอีกด้วย  ทำให้มนุษย์ต้องเพียรพยายามอย่างเต็มที่ที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลนนั้น  และก็ได้ทำให้เกิดอุตสาหกรรมขึ้นมา
ทีนี้  ตรงข้ามกับความขาดแคลนคืออะไร  มนุษย์ก็คิดว่า  เมื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนสำเร็จแล้ว  ถ้าเกิดความพรั่งพร้อมมนุษย์ก็จะอยู่เป็นสุขอย่างแท้จริง  เพราะฉะนั้น  ความคิดที่อยู่เบื้องหลังความเจริญทางอุตสาหกรรมของฝรั่ง  จึงได้แก่  ความคิดนี้  คือ ความคิดที่ว่า  จะแก้ปัญหาความขาดแคลน  และให้มีวัตถุพรั่งพร้อมเพราะมองไปว่า  ความสุขของมนุษย์นั้น  จะเกิดขึ้นได้ด้วยการมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อมอย่างที่กล่าวเมื่อกี้
ต่อมา  แนวความคิดนี้ก็พัฒนามาเป็นวัตถุนิยม  แล้วก็แปรมาเป็นบริโภคนิยมได้ด้วย  แต่ที่สำคัญก็คือความคิดความเข้าใจแบบอุตสาหกรรมนี้  ได้เข้ามาประสานกันกับแนวคิดอย่างที่หนึ่ง
เมื่อกี้นี้ตามแนวคิดที่ ๑ ถือว่า  มนุษย์จะมีความสำเร็จในโลกอย่างผู้ที่ครอบครองโลกได้  ด้วยการเอาชนะธรรมชาติ  ทีนี้ก็มาบวกแนวคิดที่สองเข้าไป  บอกว่ามนุษย์จะมีความสุขได้จริงต่อเมื่อมีวัตถุพรั่งพร้อมบริบูรณ์
เมื่อรวมกันเข้าไปก็ได้หลักความเชื่อที่ว่า  เราจะต้องพิชิตธรรมชาติเพื่อจะเอาธรรมชาติมาปรุงแต่งสร้างสรรค์วัตถุ ที่จะมาบำรุงบำเรอมนุษย์ให้พรั่งพร้อมมีความสมบูรณ์  แล้วเราจะได้มีความสุข  แนวคิดสองอย่างนี้สอดคล้องกันและเสริมกำลังกัน  ก็เลยไปกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย  เข้ากันได้สนิท
ตกลงว่าสองแนวความคิดหรือแรงจูงในนี้มาประสานกันในตอนนี้  แล้วสองอันนี้แหละที่อยู่เบื้องหลังความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในยุคทีผ่านมา  จนกระทั่งปัจจุบันนี้
ถึงตอนนี้ก็เป็นอันว่า  ความใฝ่รู้บริสุทธิ์ที่ว่าเมื่อกี้ที่จะรู้ความจริงเบื้องหลังของธรรมชาตินั้น  กลายเป็นไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว  เพราะมาบวกเข้ากับความใฝ่ปรารถนาที่จะพิชิตธรรมชาติประการหนึ่ง และความใฝ่ปรารถนาที่จะมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อมประการหนึ่ง
พอแนวคิดสองอย่างนี้ผนวกเข้ามาแล้ว  ความใฝ่รู้ความจริงในธรรมชาติที่โปร่งโล่งบริสุทธิ์  ก็โอนเอนและบีบตัวลงมาในทางที่จะถูกใช้เป็นเครื่องสนองความต้องการของมนุษย์  แล้วก็เกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ  ในลักษณะที่มนุษย์จะกระทำต่อธรรมชาติแบบเอาเปรียบ  โดยใช้ความรู้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ
มนุษย์ก็คิดว่า  เมื่อไรเราเอาชนะธรรมชาติได้เราก็สามารถที่จะปรุงแต่งประดิษฐ์สร้างสรรค์วัตถุอะไรต่าง ๆ  ขึ้นมาบำรุงบำเรอตนให้พรั่งพร้อม  เมื่อนั้นเราก็จะมีความสุขอย่างสมบูรณ์  แล้วก็ค้นคิดวิทยาการมาทำการต่าง ๆ ตามแนวคิดนี้  ความเจริญก็เกิดขึ้นมากมายในยุคที่ผ่านมาซึ่งเรียกกันว่าเป็นยุคอุตสาหกรรม  จนกระทั่งเกิดมีการพูดอย่างนี้ขึ้นมาว่า  วิทยาศาสตร์ในยุคที่ผ่านมานี้  เป็นวิทยาศาสตร์ที่รับใช้อุตสาหกรรม
ความเจริญในยุคที่ผ่านมานี้เรายอมรับกันว่าเป็นความเจริญในยุคอุตสาหกรรม  แต่ปัจจุบันนี้ฝรั่งกำลังผ่านพ้นยุคนี้ไปในขณะที่ไทยเรากำลังเข้าไป
ไทยเราบอกว่าฉันจะเป็นนิกส์  นั้นก็หมายความว่าเรากำลังจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม  แต่ฝรั่งเขาบอกว่าฉันผ่านออกไปแล้วนะ  ฉันพ้นแล้ว  ตอนนี้เขาบอกว่าฉันเป็น  post-industrial  แล้ว  ฉันเข้า information age แล้ว  ฉันเป็น information society  แล้ว
เป็นอันว่า  วิทยาศาสตร์นี้เป็นตัวสำคัญที่จะให้เข้าหรือให้ผ่านพ้นอุตสาหกรรมได้  ทางวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า  ฉันนี่แหละที่เป็นผู้ทำให้อุตสาหกรรมเจริญขึ้นมาได้  แต่ในทางกลับกัน  ทางฝ่ายอุตสาหกรรมก็บอกว่า  วิทยาศาสตร์น่ะหรือ  ก็เป็นผู้รับใช้ฉันน่ะซี  แล้วแต่ใครจะพูด
พร้อมกับความเจริญของยุคอุตสาหกรรม  โทษภัยที่สืบเนื่องจากความเจริญนั้น  ก็ค่อย ๆ ปรากฏ  แล้วรุนแรงมากขึ้น  ตามลำดับ  จนเด่นชัดมากในปัจจุบัน  โดยเฉพาะภยันตรายเนื่องจากความเสื่อมโทรมของธรรมชาติแวดล้อม  ดังที่ตื่นกลัวกันอยู่ทุกวันนี้
มูลเหตุก็เกิดจากแนวความคิดสำคัญ ๒ อย่างที่พูดมาแล้ว  นั่นเอง  กล่าวคือ  แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ  เป็นจุดเริ่มให้การเบียดเบียนและเอาเปรียบธรรมชาติเป็นไปอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน  ต่อจากนั้น  แนวความคิดที่จะสร้างวัตถุบำเรอความสุขให้พรั่งพร้อม  ก็เข้ามาตั้งเป้าหมายที่ทำให้กิจกรรมเกี่ยวกับการพิชิตและจัดการกับธรรมชาติดำเนินไปอย่างมุ่งมั่นจริงจัง  ในอัตราที่ทั้งแรงและทั้งเร็วมากขึ้น  โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้นอีกด้านหนึ่ง  แนวความคิดนั้นเองก็ทำให้มนุษย์แข่งขันเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกันเอง  เพื่อแย่งชิงวัตถุบำเรอความสุขเหล่านั้นด้วย  จนกล่าวได้ว่า  การที่มนุษย์ยุคปัจจุบันได้รับผลจาการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะที่ผ่านมาต้องพากันประสบปัญหาทั้งปวงอยู่ขณะนี้  ก็เพราะฤทธิ์เดชของ  แนวความคิดสองประการที่กล่าวมานี้ 
เหตุปัจจัยยังไม่หมดแค่นี้  นอกจากแนวความคิดใหญ่ ๆ  สองสายนั้นแล้ว  ยังมีทัศนคติที่เจริญควบคู่มาด้วยกันที่เป็นปัจจัยแก่กันกับแนวความคิด ๒ อย่างข้างต้น  ช่วยส่งเสริมให้หนักเข้าไปอีก  คือ
.   ทัศนคติแบบชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน  ที่พูดถึงข้างต้นยุคอุตสาหกรรมนั้น  มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง  คือเป็นยุค  specialization  ด้วย หมายความว่าเป็นยุคแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะทางวิทยาการต่าง ๆ  ได้มีการแบ่งซอยออกไป  ให้มีการศึกษาแนวดิ่งไปในทิศทางนั้น ๆ  เจาะลึกเฉพาะด้านของตนมาก  แม้จะรู้เชี่ยวชาญเก่งกาจในเรื่องเฉพาะนั้นอย่างยิ่ง  แต่ขาดการประสานเชื่อมโยงกับแดนความรู้ความชำนาญด้านอื่น ๆ  จนกระทั่งบางสาขาเกิดความหลงผิดไปว่า  วิทยาการในสายของตนนั้น  จะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ทุกอย่าง
นี่แหละเป็นสาเหตุสำคัญ  คือ  ตอนแรกก็แบ่งแยกซอยทิศทางกันไปให้ชำนาญพิเศษ  เพื่อจะได้รู้ให้ชัด  แล้วจะได้เอาความรู้ในด้านของตนมาเป็นส่วนร่วมที่เสริมกันในการรับใช้มนุษย์  แต่แล้วก็ไปเกิดความหลงผิดว่า  ความเจริญก้าวหน้าแห่งความรู้ของตัวนั้นจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง  ก็เลยเกิดทัศนคติแบบชำนาญพิเศษเฉพาะด้านชนิดที่เอียงสุดไป  จนเข้าใจว่าวิชาการในแดนของตนอย่างเดียวจะแก้ปัญหาของมนุษย์หมด  เหมือนอย่างในวงการวิทยาศาสตร์  ก็มีผู้ที่คิดว่าวิทยาศาสตร์อย่างเดียวเท่านั้น  จะตอบปัญหาได้ทุกอย่าง  จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง  และไม่เกิดความคิดที่จะไปประสานกับผู้อื่น
ทัศนคตินี้ได้ไปไกลจนกระทั่ง  มองศาสนา  มองจริยธรรมเป็นเรื่องชำนาญพิเศษไปด้วย  จะเห็นว่า  ในยุคที่ผ่านมา  จนกระทั่งเดี๋ยวนี้  ในวงการการศึกษา  ก็มองจริยธรรมเป็นเรื่องชำนาญพิเศษไปแล้ว  เพราะฉะนั้น  เวลาพูดถึงจริยธรรมก็บอกว่า  เป็นเรื่องของศาสนา  เป็นเรื่องของนักโน้นนักนี้  ฉันไม่เกี่ยว  แต่เวลาพูดถึงการแก้ปัญหาของโลก  เขาบอกว่าฉันนี่แหละแก้ได้  ต้องศาสตร์ของฉัน  อะไรทำนองนี้  ไม่พูดในเชิงที่จะเชื่อมโยงประสานหรือร่วมมือกัน  รู้สึกว่ามันจะสับสนกันอยู่  เพราะว่าฉันแก้ปัญหาของโลกได้หมด  ปัญหาจริยธรรมก็เป็นปัญหาของโลก  ฉันก็ต้องแก้ได้ด้วย  แต่บอกว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของพวกโน้นที่เขาชำนาญพิเศษ  ฉันไม่เกี่ยว  นี่อะไรกัน  หมายความว่าฉันก็ข้ามไปแก้ปัญหาของพวกจริยธรรมได้ด้วยซิ  อันนี้ก็โยงไปสู่ทัศนคติข้อต่อไปที่เป็นอย่างที่สอง
. ทัศนคติที่ว่าจะแก้ปัญหาจริยธรรมได้โดยไม่ต้องใช้ปัจจัยหรือวิธีการทางจริยธรรมหมายความว่า จะแก้ปัญหาทางศีลธรรมได้ด้วยวิธีการทางวัตถุ พวกนี้เห็นว่าถ้าพัฒนาวัตถุให้พรั่งพร้อมแล้ว  ปัญหาทางด้านจริยธรรมก็หมดไปเอง  ไม่ต้องพัฒนามนุษย์  ไม่ต้องพัฒนาจิตใจ นี่เป็นความคิดในยุคที่ผ่านมา  ซึ่งปรากฏมากในวงการเศรษฐศาสตร์  นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่า  ถ้าเศรษฐศาสตร์ดีพัฒนาวัตถุพรั่งพร้อมแล้ว  จะไม่มีปัญหาศีลธรรม  ทุกอย่างจะเรียบร้อยไปเอง  กลายเป็นว่าจะแก้ปัญหาทางจิตใจหรือปัญหาทางจริยธรรมได้ด้วยวิธีการทางวัตถุ  ไม่ต้องใช้วิธีการทางจริยธรรม
ว่าที่จริง  ความคิดที่จะแก้ปัญหาจริยธรรมด้วยวิธีการทางเศรษฐกิจนี้  ก็ไม่ใช่จะผิดเสียทีเดียว  เพราะสภาพเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในทางจริยธรรมด้วย  แต่ความผิดพลาดอยู่ที่ทัศนคติแบบมองอะไรแง่เดียวด้านเดียว  เห็นไปว่าเศรษฐกิจดีแล้ว  ปัญหาจริยธรรมก็จะหมดไปเอง  เพราะฉะนั้น  ให้พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียวก็พอ
สำหรับความคิดแบบนี้  คนอื่นสามารถแกล้งค้านเล่น ๆ ด้วยคำพูดที่เป็นความจริงแท้  ๆ  อย่างง่ายดายว่า  จริงสิ  ถ้าเศรษฐกิจดีแล้วปัญหาจริยธรรมก็ไม่มี  เพราะถ้าขาดจริยธรรมเสียอย่างเดียว  ก็ไม่มีทางทำให้เศรษฐกิจดีได้สำเร็จ  หรือจะพูดว่า  ถ้าคนมีจริยธรรมดีแล้ว  เช่น  ขยันหมั่นเพียร  ตั้งในทำงาน  จัดสรรแบ่งปันกันอย่างเสมอภาคยุติธรรม  รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด  และรู้จักใช้โภคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม   ปัญหาเศรษฐกิจก็หมดไปเอง  ซึ่งก็มีความเป็นจริงอยู่พอ ๆ  กัน
คำว่า  ถ้าเศรษฐกิจดีแล้ว  ปัญหาจริยธรรมก็ไม่มี ”  เป็นความจริงสำหรับสังคมในแง่ที่ว่า  เพราะก่อนที่เศรษฐกิจจะดีได้นั้น  จะต้องแก้ปัญหาจริยธรรมสำเร็จได้แล้วและคำว่า ถ้าจริยธรรมดีแล้ว  ปัญหาเศรษฐกิจก็หมดไปเอง ”  ก็เป็นความจริงสำหรับสังคมได้  ในความหมายที่ว่า  เพราะก่อนที่จริยธรรมจะดีได้นั้น  เราต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจสำเร็จแล้วด้วย  แต่การพูดความจริงด้วยสำนวนภาษา  แบบนี้มีประโยชน์แก่มนุษย์น้อยเกินไป
คำว่า  ปัญหาจริยธรรมนั้น  กินความถึงปัญหาต่าง ๆ  ทางจิตใจ  รวมทั้งเรื่องความสุขความทุกข์ด้วย  ดังนั้น  ที่ว่าจะแก้ปัญหาทางด้านอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ  ด้วยวิธีการทางวัตถุนั้นด้วย  เช่น  ผลิตสารเคมี  ทำยาเอามาฉีดหรือให้กิน  เพื่อกล่อมประสาท เป็นต้น  ทำให้หายวิตกกังวล  ทำให้หายกลุ้มใน  หรือแก้ความซึมเศร้า  ทำให้จิตใจปลอดโปร่งสดชื่นได้  ซึ่งเขาก็ทำได้จริงมากทีเดียว  แต่ถ้าเข้าใจว่านี่เป็นการแก้ปัญหาทางจริยธรรมและทางจิตใจได้สำเร็จด้วยวิธีการทางวัตถุของวิทยาศาสตร์และและเทคโนโลยี  ก็นับว่าเป็นความหลงผิดอย่างมาก  เพราะนั่นเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว  บรรเทาปัญหาหรือเป็นขั้นของการช่วยสร้างสภาพพร้อมสำหรับการแก้ปัญหาเท่านั้น  หาใช่เป็นตัวการแก้ปัญหาที่แท้จริงไม่  เรื่องนี้  อาจจะวกกลับมาพูดอีกข้างหน้า
ศาสตร์และวิทยาหลายอย่างอยากจะเป็นวิทยาศาสตร์  หรือพยายามแสดงตนว่าเป็นวิทยาศาสตร์  แต่ทัศนคติแบบชำนาญพิเศษเฉพาะทาง  แบ่งซอย  และมองด้านเดียวนี้  ขัดขาตัวเอง  ทำให้ไม่อาจเป็นวิทยาศาสตร์ได้สำเร็จ  รวมทั้งวิทยาศาสตร์ด้วย  ที่ไม่อาจบรรลุความเป็นวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงหรือสมบูรณ์  เพราะเหตุปัจจัยไม่ครบถ้วนทั่วถึง  ทำให้องค์ของความจริงไม่สมบูรณ์  ก็เลยเป็นความจริงที่ไม่สมบูรณ์  เมื่อเป็นความจริงที่ไม่สมบูรณ์  ก็คือไม่เป็นความจริงที่แท้จริง  และเมื่อมองเห็นปัจจัยไม่ครบถ้วน  แล้วด่วนสรุปลงเสีย  ก็คือเห็นไม่ตรงตามที่มันเป็นจริง  ระบบของความเป็นเหตุ  เป็นผลก็ไม่บริบูรณ์  ก็ไม่สามารถเข้าถึงความจริง
ความเชื่อและทัศนคติแบบนี้ทั้งสองอย่างแฝงมาในยุคอุตสาหกรรม  พ่วงมากับแนวความคิดสองอย่างเมื่อกี้นี้  เป็นตัวที่เสริมซ้ำให้ปัญหาหนักแรงขึ้น  ในทีนี้จะขอผ่านไปก่อน
ที่ว่ามานี้  เป็นจุดเริ่มต้นให้เรามีข้อพิจารณา  ตอนนี้อาจมีผู้สงสัยว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างไร  ก็ขอตอบว่ามันเริ่มเกี่ยวข้องแล้วละ  ที่พูดมานี้ก็เกี่ยวข้องเข้ามาเยอะแยะแล้ว  แต่ทีนี้เพื่อให้เห็นชัด  จะย้อนกลับไปพูดถึงฝ่ายศาสนาบ้าง  เมื่อกี้นี้พูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ว่าเกิดขึ้นและพัฒนามาอย่างไร  คราวนี้ก็จะไปดูว่าศาสนาเกิดขึ้น  แล้วพัฒนามาอย่างไร  เพื่อจะให้สองเรื่องนี้มาบรรจบกัน
ศาสนามีต้นกำเนิดจากอะไร  เรียนกันมาแต่ไหนแต่ไรว่าศาสนามีต้นกำเนิดมาจากความกลัวภัย  ก็กลัวภัยธรรมชาตินี้แหละ  ฟ้าผ่า  น้ำท่วม  แผ่นดินไหว  ภูเขาระเบิด  พายุร้ายอะไรต่าง ๆ  เหล่านี้  เป็นภัยอันตรายที่คุกคามชีวิตมนุษย์ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย  ในสมัยโบราณมนุษย์เริ่มแรก  ยังไม่รู้เหตุรู้ผล  ไม่รู้จักธรรมชาติ  ก็ต้องหาทางหาคำตอบที่จะแก้ปัญหาหรือช่วยตัวเองให้พ้นจากภัยเหล่านั้น
พูดรวบรัดว่า  มนุษย์นี้  ถูกภัยธรรมชาติบีบค้น  เกิดความกลัวภัยขึ้นมา  ก็เริ่มที่จะหาคำตอบ  และการที่จะหาคำตอบก็คือ  เกิดความสนใจต่อธรรมชาตินั่นเอง  เพราะธรรมชาติมาทำให้เกิดภัยบีบคั้นเรา  เราก็สนใจต่อธรรมชาตินั้นที่อยู่รอบตัว  ที่เราจะต้องเกี่ยวข้องที่มีผลกระทบต่อตัวเราอยู่ตลอดเวลา  เพื่อหาทางปฏิบัติด้วยความปรารถนาจะพ้นภัย  นี่คือมีตัวกำหนดอันหนึ่งขึ้นมา  และตัวกำหนดอันนี้แหละที่จะไปบรรจบกับวิทยาศาสตร์  บรรจบกันตรงที่ว่า  ในฝ่ายศาสนานี้มีความใฝ่ปรารถนาจะพ้นภัย  ส่วนทางฝ่ายวิทยาศาสตร์  เราพูดไปแล้วเมื่อกี้ว่ามีความใฝ่ปรารถนาที่จะรู้ความจริงของธรรมชาติ  ตรงนี้แหละที่จะเห็นจุดบรรจบ
เราพูดถึงฝ่ายศาสนาว่า  มีความใฝ่ปรารถนาที่จะพ้นภัย  ภัยนี้เกี่ยวกับธรรมชาติ  เมื่อมีความกลัวภัย  มีความใฝ่ปรารถนาจะพ้นภัยแล้ว  เขาก็มองดูไปที่ธรรมชาติ  เพื่อหาทางปฏิบัติ  พร้อมกันนั้นเขาก็มีความอัศจรรย์ใจต่อความลึกลับมหัศจรรย์ยิ่งใหญ่ของธรรมชาตินั้น  จากความอัศจรรย์ใจนี้  เขาก็มีความใฝ่ปรารถนาต้องการที่จะรู้ความจริงของธรรมชาตินั้น  ซึ่งไม่เฉพาะอยากจะรู้เท่านั้น  มันบังคับให้เขาต้องอยากจะรู้ด้วย  เพราะมิฉะนั้นเขาจะแก้ปัญหาไม่ได้  แล้วมันก็จะคุกคามเขาไปเรื่อยตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น  จากความใฝ่ปรารถนาที่จะพ้นภัย  คือจากความกลัวนี่แหละ  ก็นำไปสู่ความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติด้วย  ดังนั้นตอนนี้เราก็เห็นได้ว่าศาสนามาบรรจบกับวิทยาศาสตร์แล้วละ  แต่ที่จริงนั้นกำลังบอกว่า  ศาสนาเริ่มก่อน  คือเริ่มจากจุดที่ว่ากลัวภัย  แล้วจากนั้นจึงใฝ่ปรารถนาจะรู้ความจริงของธรรมชาติ  พอถึงจุดนี้แหละ  ทั้งศาสนาและวิทยาศาสตร์ก็เกิดขึ้นด้วยกัน  นี่คือจุดบรรจบ
เป็นอันว่าเรามาถึงจุดที่ว่ามีความใฝ่ปรารถนา  ต้องการที่จะรู้ความจริงที่อยู่เบื้องหลังความเป็นไปของธรรมชาติ  ซึ่งเป็นจุดร่วมที่เริ่มกำเนิด  ทั้งของศาสนาและวิทยาศาสตร์
จะเห็นว่า  ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยุคแรกนั้นมากับศาสนา  พวกที่กำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยุคแรกไว้ในยุคอียิปต์  เมโสโปเตเมีย ฯลฯ  เท่าที่ทราบนี่  เป็นคนในวงการศาสนา  อาจจะเรียกว่าเป็นนักบวชหรืออะไรก็แล้วแต่  เพราะว่าบุคคลพวกนี้มีความสนใจธรรมชาติ  เอาใจใส่หาทางจัดการกับภัยที่คุกคามมนุษย์นี้เป็นพวกแรก  แล้วเขาก็ใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติด้วย  ก็เลยกลายเป็นว่า  วิทยาศาสตร์กับศาสนานี้เริ่มต้นมาด้วยกัน  อันนี้เป็นจุดที่มาทางประวัติศาสตร์  เดี๋ยวจะมาบรรจบกับแนวความคิดของนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันทีหลัง  ว่าศาสนากับวิทยาศาสตร์นี้  มีจุดเริ่มต้นกันอย่างไร
ณ  จุดเริ่มที่เป็นจุดร่วมนี้  หมายความว่า ณ จุดเริ่มทั้งของวิทยาศาสตร์และของศาสนาที่เป็นจุดร่วมกันนี้  มันก็เป็นจุดแยกไปด้วยในตัว  ศาสนากับวิทยาศาสตร์จะเริ่มแตกต่างกันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  แตกต่างกันอย่างไร  มันก็เป็นเรื่องของความจริงตามธรรมชาตินี่แหละ  จะได้อธิบายต่อไป
ธรรมชาติและภัยจากธรรมชาติที่มนุษย์หรือชีวิตจะต้องเผชิญนี้  เป็นเรื่องต่อหน้า  เกี่ยวข้องกับชีวิต  ความเป็นความตาย  ซึ่งจะต้องมีคำตอบ  และปฏิบัติได้ทันที  รอไม่ได้  ภัยอยู่ข้างหน้าแล้วมันมาถึงแล้ว  สถานการณ์อยู่ตรงหน้านี้แล้ว  จะทำอย่างไรก็ทำต้องมีคำตอบให้ทำได้ทันที  พร้อมกันนั้นมันก็เป็นเรื่องของหมู่ชนหรือสังคมทั้งหมด  ทุกคนจะต้องเผชิญร่วมกัน  ในสถานการณ์เช่นนี้  ก็จะต้องมีผู้เสนอคำตอบขึ้น  ชนิดที่จะให้ปฏิบัติได้ทันที  ซึ่งพอแก่การถึงความยุติทีเดียว  สำหรับหมู่ชนนั้นทั้งหมดพร้อมกัน  เมื่อมีผู้เสนอคำตอบอย่างว่านั้นขึ้นแล้วและเป็นที่ยอมรับกัน คำตอบแบบนี้แหละก็ได้กลายมาเป็น  ศาสนา” 
คำตอบที่เป็นรายการปฏิบัติได้ทันทีนั้น  อาจจะออกมาในรูปที่เราเรียกปัจจุบันว่า  ไม่มีเหตุผล เช่น พิธีกรรมแปลก ๆ เป็นต้น  ก็ได้  แต่มันก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ทันที  สำหรับหมู่ชนที่เป็นสังคมทั้งหมด  แล้วอันนี้ก็มาเป็นศาสนา
ทีนี้  อีกพวกหนึ่ง  หรือพร้อมกันนั้นในคนเดียวกันนั่นเอง  เมื่อผ่านสถานการณ์นั้นไปแล้ว  หรือสถานการณ์เฉพาะหน้าไม่บีบคั้น  ก็มีเวลาที่จะค่อยรวบรวมหาข้อมูล  คิดค้นตรวจสอบความจริงไปเรื่อย ๆ  พวกนี้ก็ได้คำตอบมา  เป็นความรู้จากการสังเกตและทดลองต่อมาเราเรียกว่าเป็น  วิทยาศาสตร์ ”  เป็นความรู้จากการที่ค่อย ๆ พิสูจน์ได้ทีละอย่าง ๆ ทีละเรื่อง ๆ มา
นี่คือ  จุดที่แตกต่างกัน  ที่จริงเดิมนั้นก็อันเดียวกัน  เริ่มมาด้วยกัน  แล้วกลายเป็นแยกเป็นสองอย่าง  คำตอบที่เรียกว่าเป็นเรื่องสำหรับทำทันที  เป็นเรื่องของชุมชน  เป็นเรื่องของคนทั้งหมดร่วมกัน  มาในรูปของความเชื่อและศรัทธา  เพราะไม่รู้จะพิสูจน์อย่างไร  มันไม่มีเวลาจะพิสูจน์  หรือยังไม่มีทางจะพิสูจน์ได้  แต่ก็ต้องทำลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง  อย่างที่ว่ารอไม่ได้  ต้องทำต้องแก้ปัญหากันไปเลย  ก็มาเป็นที่เรียกว่าศาสนา  เพราะฉะนั้น  ศาสนาจึงมากับศรัทธา  และก็เกิดขึ้นอย่างนี้
 ส่วนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการสืบสวนหาความรู้ในความจริงอย่างค่อยเป็นค่อยไป  ไม่จำเป็นจะต้องตอบทันที  และเป็นเรื่องของบุคคลที่มีความสนใจ  ไม่เป็นเรื่องของสังคมหรือหมู่ชนทั้งหมด  เพราะฉะนั้น  อาจจะมีปัจเจกชนหรือกลุ่มผู้สนใจเฉพาะกลุ่มน้อย ๆ  พยายามศึกษาเรื่องนี้ต่อกันมา  โดยใช้วิธีหาความรู้ที่จะพิสูจน์ความจริงได้  ที่เรียกว่าวิธีวิทยาศาสตร์  นี่คือความแตกต่างระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์เท่าที่พิจารณาในตอนนี้
 มีข้อสังเกตแทรกเข้ามาตรงนี้หน่อยหนึ่ง  ดังได้กล่าวแล้วว่าศาสนาเป็นเรื่องของคนหมู่ใหญ่ทั้งสังคมหรือทั้งชุมชน  ก็มีปัญหาว่าจะคุมแก่นคำสอนของตนให้คงอยู่  โดยให้คนทั้งหมดถือเหมือนกัน  ทำเหมือนกันไปได้เรื่อย ๆ อย่างไร  คำตอบก็คือ  ศาสนาเป็นเรื่องของศรัทธา  มากับศรัทธาอยู่แล้ว  ศาสนาก็เลยใช้ศรัทธาเป็นเครื่องคุมรักษาแก่นของตนไว้  โดยให้หลักความเชื่อที่จะต้องยึดถือและทำตามอย่างตายตัว  ชนิดที่ไม่ต้องถามหาเหตุผล  อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า dogma  ( ข้อกำหนดตายตัวของลัทธิ )
ส่วนวิทยาศาสตร์อยู่ในวงจำกัดของคนที่เข้าถึง  ซึ่งจะต้องรู้จักใช้ปัญญา  ก็รักษาสาระของตนไว้ด้วยความจริงที่พิสูจน์ได้  โดยใช้วิธีการที่ถูกต้อง  วิทยาศาสตร์ก็จึงรักษาและเผยแพร่หลักของตนออกไป  ด้วยวิธีการแห่งปัญญา  ที่มีชื่อเฉพาะว่าวิธีวิทยาศาสตร์  ( scientific  method )
เป็นอันว่า  ศาสนาเสนอคำตอบเพื่อแสดงความจริงรวบยอดที่ครอบคลุม  และเป็นคำตอบที่พอแก่การ  ยุติทีเดียวจบ  ที่จริงไม่ใช่  ศาสนาเสนอคำตอบอย่างนี้  แต่คำตอบอย่างนี้แหละกลายเป็นศาสนา  ตรงนี้อย่าง  คือไม่ใช่ว่าศาสนาเป็นอะไรอันหนึ่ง  เป็นสถาบันอันหนึ่งที่มีอยู่แล้วมาเสนอคำตอบอย่างนี้  ไม่ใช่อย่างนั้น  แต่คำตอบที่มนุษย์เสนอขึ้นมาอย่างนี้นั่นแหละกลายมาเป็นศาสนา  มนุษย์เองนั่นแหละเสนอคำตอบ  แล้วต่อมาก็มีคนที่รวมกันเป็นสถาบัน  เป็นกลุ่มหรืออะไรที่จะมาช่วยดูแลรักษาให้คงอยู่ตามนั้น  จึงกลายเป็นนักบวช  เป็นสถาบันศาสนาขึ้นมา
เพราะฉะนั้น  มองในแง่หนึ่งศาสนาก็คือการให้คำตอบเบ็ดเสร็จ  คือ  ให้คำตอบที่เชื่อว่าเป็นความจริงพื้นฐานของโลกและชีวิต  อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าความจริงรวบยอด  จบทีเดียว  คลุมจากข้างบนลงมาทีเดียวหมดเลย
 แต่วิทยาศาสตร์นั้นตรงข้าม  วิทยาศาสตร์เป็นการพยายามพิสูจน์ความจริงปลีกย่อยทีละเรื่องละอย่าง  เป็นความจริงเฉพาะเรื่องเฉพาะอย่าง  ก้าวไปหาความจริงที่ครอบคลุมทีละน้อย ๆ
 แม้วิทยาศาสตร์จะบอกว่า  ฉันต้องการ  general  principle  คือหลักการทั่วไป  แต่หลักการทั่วไปของวิทยาศาสตร์นั้น  ก็เป็นหลักการทั่วไปเฉพาะด้าน  เฉพาะเรื่อง  เฉพาะกรณี  ซึ่งมาเป็นส่วนย่อยของความจริงรวบยอดหรือความจริงพื้นฐานอีกที
 ถ้าใช้คำล้อกัน  ถ้าเราบอกว่า  ศาสนาให้คำตอบเบ็ดเสร็จ  วิทยาศาสตร์ก็ให้คำตอบเบ็ดเตล็ด  จะเป็นทำนองนี้  และมันก็เป็นมาอย่างนี้  เมื่อมองเป็นกลาง ๆ  เราจะเห็นความจริงที่เป็นไปตามธรรมดาของวิวัฒนาการของมนุษย์มาอย่างนี้  จากประวัติศาสตร์  เราจะเห็นจุดเริ่มร่วมกันของวิทยาศาสตร์กับศาสนา  พร้อมทั้งจุดแยกต่างอย่างที่ว่ามานี้
ตรงนี้ขอแทรกนอกเรื่องนิดหน่อยว่า  เพราะศาสนาและวิทยาศาสตร์เป็นอย่างที่ว่ามานี้  ก็เลยมีคนอีกพวกหนึ่งที่ไม่พอใจทั้งกับศาสนาและกับวิทยาศาสตร์  คนพวกนี้ต้องการคำตอบเบ็ดเสร็จ  อย่างที่ว่ามาแล้ว  แต่เมื่อดูทางด้านศาสนา  แม้จะให้คำตอบเบ็ดเสร็จถึงความจริงพื้นฐาน  แต่คำตอบนั้นก็ไม่เห็นเป็นเหตุเป็นผลที่จะรู้เข้าใจได้ด้วยปัญญา  จะให้เชื่อเพียงด้วยศรัทธา  เขาก็รู้สึกว่ายอมรับไม่ได้  และเมื่อหันไปดูทางด้านวิทยาศาสตร์  แม้จะให้คำตอบเป็นเหตุเป็นผลพิสูจน์ได้  รู้เข้าใจด้วยปัญญา  แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบชนิดเบ็ดเสร็จที่ถึงความจริงพื้นฐาน  เพราะยังพิสูจน์ไม่ถึง  ซึ่งเขาก็รอไม่ได้  คนพวกนี้ก็เลยพยายามคิดค้นหาคำตอบขั้นเบ็ดเสร็จนั้นเอาเอง  ในเมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้  ก็ใช้วิธีการคิดหาเหตุผล  จะให้เข้าถึงความจริงพื้นฐานด้วยวิธีการทางเหตุผลนั้น  โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์  วิธีการหาความจริงเบ็ดเสร็จแบบนี้  ก็กลายเป็นวิชาการขึ้นมาอย่างหนึ่ง  เรียกว่าปรัชญา
 ถ้าพูดแบบเอาง่ายเข้าว่า  ก็อาจจะเทียบแดนความรู้ ๓ ประเภทนี้ได้  โดยกำหนดเอาที่คำตอบเบ็ดเสร็จเกี่ยวกับความจริงพื้นฐานของธรรมชาติ  หรือของโลกและชีวิตเป็นหลัก  กล่าวคือ
๑.   วิทยาศาสตร์  ยังไม่ให้คำตอบ  โดยต้องรอการพิสูจน์ก่อน
๒. ปรัชญา  พยายามให้คำตอบในระหว่างที่ยังพิสูจน์ไม่ได้โดยเอาความคิดเหตุผล    แทนการพิสูจน์ไปก่อน
๓.   ศาสนา  ให้คำตอบเด็ดขาดไปเลย  โดยไม่ต้องพิสูจน์
ทั้งวิทยาศาสตร์และปรัชญาต่างก็เกิดตามศาสนามา  และต่างก็จะมาให้คำตอบที่มุ่งให้ชัดเจนจะแจ้งกว่าศาสนา  แต่ทั้งสองอย่างก็ยังไม่อาจให้คำตอบที่สนองความต้องการที่จะพอแก่การและพอแก่ใจของมนุษย์ได้  ศาสนาจึงยังคงและยังต้องทำหน้าที่ให้คำตอบแบบทันทีทันใดที่พอแก่การ  ซึ่งตั้งอยู่บนฐานแห่งศรัทธานั้นต่อไป
ศาสนากับวิทยาศาสตร์
ความแตกต่างที่ไม่ห่างจากความแม้นเหมือน
เมื่อได้เห็นความแตกต่างบ้างแล้ว ก็จะพูดถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์ต่อไปอีก
เพราะเหตุที่ศาสนาเสนอความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติแบบรวบยอดครอบคลุมจบทีเดียวต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องปฏิบัติทันที  แล้วก็เป็นเรื่องของคนมาก  เป็นเรื่องของสังคม  ซึ่งไม่อาจพิสูจน์ด้วยประสาททั้ง  ๕  ในทันทีได้ จึงต้องอาศัยความเชื่ออย่างที่ว่าเมื่อกี้
เมื่อต้องอาศัยความเชื่อ  ตราบใดที่ยังพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนแน่นอนไม่ได้  คำตอบแบบนี้ก็จะมีเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ  ในยุคสมัยหนึ่งมีผู้เสนอคำตอบแบบนี้ขึ้นมาแล้ว  คนก็ไม่รู้ว่ามันจะจริงหรือไม่จริง  มันก็พิสูจน์ไม่ได้  ถ้ายอมรับก็ต้องเชื่อเอาไว้  ต่อมาก็มีผู้เสนอคำตอบขึ้นมาอีก  คำตอบใหม่นั่นก็ไม่รู้อีกแหละว่าจริงหรือไม่จริง  จะพิสูจน์อย่างไรก็พิสูจน์ไม่ได้  ก็อยู่ที่ว่าใครจะเชื่ออันไหน  บางคนก็ว่าเอ้อ อันเก่าดีกว่า  บางคนก็บอกว่าอันใหม่ดีกว่า  เสร็จแล้วมันก็อยู่ที่ความเชื่อ  เพราะฉะนั้นศาสนาซึ่งอยู่ที่ศรัทธา  ก็เลยแตกต่างกันไปตามความศรัทธา  และเพราะฉะนั้นเราจะมองเห็นว่า  ในเวลาเดียวกันจะมีศาสนาได้หลายศาสนา
ที่ว่านั้นเพราะอะไร  ก็เพราะธรรมดามันเป็นอย่างนั้น  คือลักษณะของคำตอบมันจะต้องเป็นอย่างนั้น  คือคำตอบที่เสนอความจริงครอบคลุมเป็นคำตอบพื้นฐานทีเดียวจบ  เสนอมาแล้วก็ยังพิสูจน์ไม่ได้  ก็เชื่อกันว่าอย่างนั้น  มีคำตอบใหม่  อีกพวกหนึ่งก็เชื่อกันไป  ต่างก็ยังพิสูจน์ไม่ได้  ก็จึงมีหลายศาสนา ๆ เพิ่มขึ้นมา ๆ  เรียกว่ามีหลายศาสนาอยู่ในเวลาเดียวกัน
แต่ทางฝ่ายวิทยาศาสตร์นั้นค่อย ๆ ตอบ ค่อย ๆ พิสูจน์ไปทีละอย่าง  มันก็แก้ปัญหาในทางความรู้ไปได้เรื่อย ๆ เสร็จไปตามลำดับ  เพราะฉะนั้น  ในแต่ละช่วงเวลาหนึ่งจึงมีวิทยาศาสตร์อันเดียว  และด้วยเหตุนี้  จึงอาจจะมีผู้พูดว่า  ศาสนานั้นมีหลายศาสนา  แต่วิทยาศาสตร์มีวิทยาศาสตร์เดียว  นี่ก็เป็นเรื่องของธรรมดาตามธรรมชาติ  ที่มันจะเกิดขึ้นอย่างนั้น  มันเป็นความจริงตามธรรมชาติแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์ว่า  ในช่วงเวลาหนึ่งก็ย่อมมีวิทยาศาสตร์อันเดียว 
แต่ที่จริง  ถ้าว่าโดยลำดับกาลเวลาในประวัติศาสตร์  วิทยาศาสตร์ก็มีหลายวิทยาศาสตร์  เพราะวิทยาศาสตร์นั้นไม่ให้คำตอบ  ที่แสดงความจริงแบบรวบยอดทีเดียวจบ  อย่างที่ว่าเมื่อกี้  เพราะฉะนั้น  ลักษณะของวิทยาศาสตร์จึงตรงข้ามกับศาสนา  คือศาสนานั้นมีหลายศาสนาในเวลาเดียวกัน  แต่วิทยาศาสตร์มีหลายวิทยาศาสตร์โดยลำดับกาลในประวัติศาสตร์
ที่พูดไปนั้น  หมายความว่าอย่างไร  อ้าว  ในเวลาที่เรามองธรรมชาตินั้นเรามักมองไปที่  the  universe  คือจักรวาล  หรือจักรภพ  ว่าเป็นอย่างไร  แล้วก็จะมีคำตอบของแต่ละยุคแต่ละสมัย  ที่เราบอกว่าเป็นคำตอบของวิทยาศาสตร์  คำตอบที่สมัยหนึ่งว่าถูกต้อง  แต่ต่อมาก็พิสูจน์ได้ว่าผิด  และต่อมาคำตอบใหม่ที่ว่าถูก  ก็พิสูจน์ได้ว่าผิดอีก  ก็ได้ภาพอันใหม่ต่อมาเรื่อย ๆ เราก็เลยมีวิทยาศาสตร์ของแต่ละยุค
วิทยาศาสตร์แบบหนึ่งสมัยหนึ่งเป็นไปตาม  Ptolemaic  universe  คือแสดงจักรภพหรือจักรวาลตามแบบที่  Ptolemy  อธิบายไว้  แต่ต่อมาก็จะมี  Copernican  universe  คือจักรวาลแบบโคเปอร์นิคัส  เดี๋ยวต่อมาก็มี  Cartesian  universe  หรือ Newtonian  universe  จนกระทั่งถึง  the  universe  of  the  new  physics  ในปัจจุบันนี้  ซึ่งภาพของจักรวาลหรือความจริงในธรรมชาติได้เปลี่ยนมาเรื่อยตลอดเวลา  ภาพ  universe  หรือจักรภพ  หรือธรรมชาติของ  the  new  physics  นี่ไม่ว่าจะเป็นของ  quantum  หรือ   relativity  คือจะเป็นของทฤษฎีควอนตัม  หรือทฤษฎีสัมพัทธภาพก็ตาม  ก็ไม่เหมือนกับโลกธรรมชาติ  หรือจักรวาลในยุคสมัยของ  Newton  เป็นคนละแบบกันเลย  เพราะฉะนั้น  วิทยาศาสตร์ก็มีหลายวิทยาศาสตร์  โดยลำดับกาลเวลา  อันนี้ก็เป็นแง่พิจารณาอย่างหนึ่ง
ขอแทรกตรงนี้อีกนิดหน่อย  ที่ว่ามีวิทยาศาสตร์หลายวิทยาศาสตร์โดยลำดับกาลนั้น  มาถึงเวลานี้  ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า  ชักจะมีหลายวิทยาศาสตร์ในเวลาเดียวกัน  หรือในลำดับกาลที่ใกล้ชิดกันมากเกิดขึ้นแล้ว  ดังจะเห็นว่า  ตอนนี้มีนักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยที่บอกว่า  วิทยาศาสตร์จะต้องเปลี่ยนแนวความคิดพื้นฐานใหม่ในการที่จะแสวงหาความจริง  นักวิทยาศาสตร์พวกนี้ไม่ยอมรับแนวความคิดพื้นฐานของวิทยาศาสตร์แบบเก่า  แล้วก็มีการเรียกแบ่งแยกเป็นทำนองว่ามีฟิสิกส์เก่า  กับฟิสิกส์ใหม่  หรือวิทยาศาสตร์เก่ากับวิทยาศาสตร์ใหม่  โดยเฉพาะคำว่า  the  new  physics  จะปรากฏให้เห็นบ่อยมาก  หรือคำว่า  the  new  sciences  ก็มีให้เห็นเป็นครั้งคราว  แสดงว่าแม้แต่ขณะนี้ก็ไม่ใช่มีวิทยาศาสตร์เดียว
ต่อไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ  เมื่อกี้ได้บอกแล้วว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของโลกภายนอก  ว่าด้วยวัตถุนอกตัวมนุษย์ที่พิสูจน์ได้ด้วยประสาท  หรืออินทรีย์ทั้ง ๕ เมื่อพิสูจน์ได้ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ ในขั้นต้นนี้  เราก็บอกได้ว่าเป็นเรื่องที่ตัดสินผิดถูกกันไปได้เลย  เป็นอันเสร็จสิ้นไปทีหนึ่ง ๆ  แล้วก็ก้าวสู่ความจริงขั้นต่อไปเป็นตอน ๆ  อย่างที่ว่ามาแล้ว  แต่ทีนี้ศาสนายังมีลักษณะพิเศษที่ต่างออกไป  คือศาสนาไม่ได้มองเฉพาะโลกวัตถุภายนอกเท่านั้น  แต่ศาสนาเป็นเรื่องของตัวมนุษย์ที่เป็นผู้พิสูจน์ความจริงนั้นเอง
วิทยาศาสตร์นั้นไปยุ่งกับสิ่งที่ถูกมนุษย์พิสูจน์  แต่ศาสนามาเอาที่ตัวผู้พิสูจน์เอง  คือมายุ่งกับตัวมนุษย์ผู้ใช้อินทรีย์ ๕ นั้น  มันก็เลยผ่านพ้นหรือเลยระดับการพิสูจน์โลกภายนอกด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ มาสู่พัฒนาการทางจิตปัญญาของตัวคนผู้จะทำการพิสูจน์  มันก็เลยเป็นเรื่องซับซ้อนขึ้นไปอีก  คือมันเป็นเรื่องของพัฒนาการทางจิตปัญญาของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม  มีข้อสังเกตแทรกในตอนนี้ว่า  สำหรับศาสนาทั่ว ๆ  ไป  แม้จะมีจุดสนใจอยู่ที่ตัวมนุษย์  ก็สนใจในฐานะเป็นตัวผู้ประสบปัญหา  คือเป็นผู้ถูกปัญหากระทบ  และจะต้องแก้ปัญหาให้แก่มนุษย์นั้น  แต่ในเวลาที่มองหาเหตุปัจจัยของปัญหา  กลับมองไปที่ธรรมชาติฝ่ายโลกวัตถุภายนอก  ว่าเป็นต้นตอที่ก่อปัญหาแก่มนุษย์  เพราะการที่มองหาเหตุปัจจัยข้างนอกนี้  ศาสนาทั่วไปเหล่านั้นจึงมีจุดร่วมกับวิทยาศาสตร์  ในแง่ที่เพ่งมองไปที่ธรรมชาติฝ่ายโลกวัตถุภายนอก
สำหรับศาสนาทั่วไปเหล่านั้น  ก็มองธรรมชาติภายนอก  ในฐานะเป็นแหล่งก่อปัญหาโทษทุกข์แก่ตัวมนุษย์  ส่วนวิทยาศาสตร์มองธรรมชาติภายนอกนั้น  ในฐานะเป็นวัตถุแห่งความใฝ่รู้ที่ตนจะศึกษาหาความรู้ในความจริง  ศาสนามองหาความจริงเบื้องหลังธรรมชาติภายนอกนั้น  เพื่อแก้ปัญหาให้แก่มนุษย์  ส่วนวิทยาศาสตร์มองหาความจริงเบื้องหลังธรรมชาติเพียงเพื่อสนองความใฝ่รู้ 
สำหรับศาสนาทั่ว ๆ  ไปเหล่านั้น  ซึ่งจะต้องมีคำตอบที่พร้อมให้มนุษย์ใช้ปฏิบัติได้ทันทีไม่ว่าปัญหาที่เป็นความวิปริตต่าง ๆ  จะเกิดขึ้นภายนอกหรือในตัวก็ตาม  ตัวก่อเหตุก็คือความจริงที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติภายนอกนั้นเช่นเดียวกัน  โดยเฉพาะผีสางเทวดา  หรือเทพเจ้าหรืออำนาจเหนือธรรมชาติอื่น ๆ  ถ้าเป็นเหตุการณ์วิปริตภายนอก  เช่นฟ้าผ่า  แผ่นดินไหว  ก็ปฏิบัติต่อผีสางเทพเจ้า  ด้วยการบวงสรวงอ้อนวอน  ถ้าเป็นเหตุการณ์วิปริตภายใน  จะเป็นความเจ็บปวดทางกายหรือแม้แต่โรคจิต  และพฤติกรรมวิปริตต่าง ๆ  ก็ปฏิบัติต่อผีสางเทพเจ้าด้วยการหาหมอผีมาทำพิธีรักษา เป็นต้น  ส่วนวิทยาศาสตร์ซึ่งก็มองเหตุที่ธรรมชาติภายนอกเช่นเดียวกัน  แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้คำตอบทันทีทันใด  ก็ค่อย ๆ  ค้นคว้ารวบรวมหาข้อมูลหาข้อมูลสืบค้นความรู้ไปเรื่อย ๆ ทีละเล็กละน้อย
ส่วนศาสนาธรรมชาติ  โดยเฉพาะพุทธศาสนา  แม้จะมีจุดสนใจอยู่ที่ตัวมนุษย์  โดยมุ่งจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์  เช่นเดียวกับศาสนาทั่ว ๆ  ไป  แต่มิได้มองแหล่งเกิดปัญหาที่ธรรมชาติภายนอกในโลกแห่งวัตถุเท่านั้น  ศาสนาประเภทนี้จะมองต้นตอของปัญหาที่กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทั้งหมด  ซึ่งรวมทั้งปัจจัยภายในตัวของมนุษย์เอง  เช่นการดำเนินชีวิตที่ผิดเป็นต้นด้วย  คือ  มองที่เหตุปัจจัยของปัญหานั้น ๆ  ตามเป็นจริง  ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน  ไม่ว่าทางรูปธรรมหรือนามธรรม  ไม่ว่าทางวัตถุหรือทางจิตใจ  ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งแห่งระบบหรือกระบวนการนั้น
ในบรรดาศาสนาทั่วไปทั้งหลายนั้น  หลายศาสนาสอนให้มนุษย์แก้ปัญหาด้วยการประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้อง  อย่างที่เรียกว่าทำตามหลักศีลธรรมหรือ จริยธรรม  จึงดูคล้ายกับว่าศาสนาเหล่านั้น  มองเหตุปัจจัยของปัญหาที่ตัวมนุษย์เหมือนกัน  แต่ที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น  กล่าวคือ  การปฏิบัติที่เป็นการแก้ไขภายในตัวมนุษย์เองหรือการปฏิบัติตัวของมนุษย์ตามความเข้าใจของศาสนาเหล่านั้น  ไม่ใช่เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยภายในตัวมนุษย์เอง  แต่เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบัญชาของอำนาจเหนือธรรมชาติภายนอก  ที่กำหนดให้ทำเช่นนั้น  ซึ่งเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับอำนาจดลบันดาลภายนอกเหล่านั้น  โดยที่การปฏิบัติตัวของมนุษย์นั้นเป็นการหลีกหลบการที่จะถูกลงโทษ  หรือเป็นการเอาอกเอาใจให้เทพเจ้าโปรดปรานประทานรางวัล  หาใช่เป็นการมองเห็นเหตุปัจจัยในกระบวนการของธรรมชาติไม่
เมื่อมองในแง่นี้  ศาสนาที่มีหลายศาสนาในเวลาเดียวกันนั้น  ก็เพราะว่าศาสนาเหล่านั้น  สนองความต้องการของบุคคล  หรือของมนุษย์ที่มีความเจริญหรือพัฒนาการทางจิตปัญญาไม่เท่ากัน  ฉะนั้นในขณะเดียวกันนี้  หรือในเวลาใดเวลาหนึ่งนี้ เมื่อมนุษย์มีพัฒนาการทางจิตปัญญาอยู่ในระดับต่าง ๆ  กัน  เราก็มีศาสนาไว้หลายศาสนาสำหรับสนองความต้องการของมนุษย์เหล่านั้นที่หลากหลาย  นี่เป็นคำตอบอีกแง่หนึ่ง  แต่ไม่แค่นั้น  ยังมีเรื่องต่อไปอีก
ทีนี้  ที่ว่าความจริงทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ด้วยประสาททั้ง ๕ หรืออินทรีย์ ๕ นั้น  ก็มีข้อแม้อีก  อย่างที่พูดมาเมื่อกี้ทีหนึ่งแล้วว่า  ในระยะแรก  การพิสูจน์โลกวัตถุด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ นั้น  ใช้อินทรีย์ ๕ เปล่าเปลือยล้วน ๆ  เช่นใช้ตา  กาย  หู  ล้วน ๆ  ได้  แต่ต่อมาต้องอาศัยอุปกรณ์มาช่วยขยายวิสัยของอินทรีย์  ๕  ออกไป  เช่น มีกล้องโทรทรรศน์  กล้องจุลทรรศน์  เป็นต้น  ทีนี้ต่อมาก็มีความจริงที่เลยวิสัยของอุปกรณ์เหล่านั้นไปอีก  นักวิทยาศาสตร์ก็ต้องอาศัยอุปกรณ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไป  จนกระทั่งต้องอาศัยอย่างที่ว่าเมื่อกี้  คือพิสูจน์ด้วยคณิตศาสตร์ขั้นสูง ๆ  ใช้ภาษาคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการพิสูจน์  จนกระทั่งปัจจุบันเราก็มีอุปกรณ์ที่เรียกว่า  คอมพิวเตอร์ขึ้นมาช่วย
วิธีการในการสังเกตทดลองพิสูจน์ความจริงของวิทยาศาสตร์  อย่างที่ว่ามานี้  ได้ทำให้เกิดลักษณะของวิทยาศาสตร์ขึ้นมาอย่างหนึ่ง  ซึ่งเป็นลักษณะที่ต่างจากศาสนาออกไปอีก  กล่าวคือ  การพิสูจน์ความจริงของวิทยาศาสตร์นั้นกลายเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญพิเศษ  เมื่อนานไปก็กลายเป็นว่าคนสามัญไม่สามารถพิสูจน์ความจริงทางวิทยาศาสตร์ได้  เพราะไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จะพิสูจน์ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงคณิตศาสตร์ขั้นสูง เป็นต้น  เลยกลายเป็นว่า  ตอนนี้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องของคนจำนวนน้อย  กลายเป็นเรื่องของพวก  specialized  ไปแล้ว  ต่างจากศาสนาที่เป็นเรื่องของชนหมู่มาก  ของชุมชน  ของสังคมทั้งหมด  และลงมาถึงสามัญชน  ซึ่งอาจยอมรับด้วยศรัทธาโดยไม่ต้องพิสูจน์
จริงอยู่  ในบางศาสนาก็มีเหมือนกัน  ที่นักบวชหรือสถาบันศาสนาทำการอย่างที่เรียกว่าผูกขาดสัจจธรรม  คือมีการกำหนดว่า  ต้องมีนักบวชหรือคนชั้นนั้นวรรณะนั้นเท่านั้น  จึงจะเล่าเรียนคัมภีร์ศึกษาหลักสำคัญ  ตลอดจนเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของศาสนานั้นได้  แต่นั่นก็เป็นเรื่องของการผูกขาด  ซึ่งตามหลักความจริง  หรือในศาสนาธรรมชาติอย่างพระพุทธศาสนา  ไม่มีการจำกัด  หรือผูกขาดอย่างนั้น  เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปตามธรรมชาติ  ใครจะไปจำกัดหรือผูกขาดไม่ได้  เป็นเรื่องของพัฒนาการของบุคคลนั้น ๆ  เองที่จะรู้และเข้าถึงได้  เงื่อนไขก็อยู่ที่ระดับแห่งพัฒนาการทางจิตปัญญาของเขา
พึงสังเกตว่า  การพิสูจน์ไม่ได้ที่พูดถึงในที่นี้มี ๒ อย่าง คือ พิสูจน์ไม่ได้เพราะเข้าไม่ถึงวิธีการที่ใช้พิสูจน์  กับพิสูจน์ไม่ได้เพราะเนื้อหาหรือตัวสิ่งที่จะพิสูจน์เป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าถึงด้วยวิธีการพิสูจน์อย่างนั้น  เวลานี้วิทยาศาสตร์กำลังจะเป็นปัญหากับทั้งสองอย่าง  โดยเฉพาะในเมื่อวิทยาศาสตร์จะพูดถึงความจริงรวบยอดขึ้นสุดท้ายที่ครอบคลุม  และเข้ามาจ่อแดนของจิตใจอย่างที่ว่าแล้วข้างต้น  ถ้าวิทยาศาสตร์ไม่ปรับท่าทีวิธีการและขยายขอบเขตความหมายของตนเสียใหม่  ก็จะต้องพบกับความสับสนและติดตัน
วิทยาศาสตร์มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้คำตอบพื้นฐานที่รวบยอดครอบคลุมความจริงทั้งหมด  แต่เมื่อไรจะเข้าถึงสักทีและพอจะเข้าถึงก็กลับกลายเป็นว่า  วิทยาศาสตร์ก็เจอกับคำตอบที่วิธีการวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันพิสูจน์ไม่ได้เสียที  มันก็ชักจะมาเข้ารอยเดียวกับศาสนา เลยดีไม่ดีวิทยาศาสตร์จะกลายเป็นศาสนาไปด้วย
เมื่อความมั่นใจในวิทยาศาสตร์สั่นคลอน
แม้แต่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนก็เฟื่องฟูได้
ขอสรุปในข้อสำคัญอีกทีหนึ่งว่า  ปัญหาของมนุษย์ในชีวิตและสังคมที่เป็นอยู่จริงนี้  ต้องการคำตอบที่สำเร็จรูปที่ใช้การได้ทันที  หรือเป็นคำแนะนำที่พร้อมจะปฏิบัติได้ทันที  สำหรับปัจจุบันขณะนี้  สำหรับชีวิตนี้  ที่แต่ละคนมีเวลาอยู่ในโลกจำกัด  เขารอไม่ได้  สถานการณ์แต่ละอย่างไม่อาจผัดเพี้ยน  จะได้คำตอบถูกหรือผิดก็อีกเรื่องหนึ่ง
แม้ว่าวิทยาศาสตร์จะมีความรู้และสามารถบอกวิธีปฏิบัติ  ในการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากมาย  แต่ก็มีจุดอ่อน  บกพร่องที่ไม่เพียงพอ  และรอไม่ได้  นี่เป็นลักษณะของวิทยาศาสตร์ คือ  ไม่เพียงพอและรอไม่ได้”  อันนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องพูดกันต่อไป  เป็นเรื่องมากมายทีเดียว
ที่ว่าไม่เพียงพอนั้น  จะขอยกตัวอย่างมาให้ดูว่าทำไมวิทยาศาสตร์จึงไม่เพียงพอ  ความรู้วิทยาศาสตร์โดยตรง  จะเรียกว่าปัญญาวิทยาศาสตร์หรืออะไรก็ตาม  ไม่สามารถแก้ปัญหาแท้ ๆ ของชีวิตในขั้นรากฐาน  เช่น  ทำคนให้เป็นคนดีไม่ได้  ทำคนให้มีความสุขไม่ได้  แก้นิสัยคนไม่ได้  คนมีความทุกข์  โทมนัส  เศร้า  โกรธ  เป็นต้น  แก้ไม่ได้  พลัดพรากจากคนรัก  ไม่สบายใจ  แก้ไม่ได้  หรือแม้แต่แก้ปัญหาสังคม  ก็ไม่ได้
ในเรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์อาจจะเถียงว่า  อ้าว ! เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์ช่วยได้มากมาย  คนนอนไม่หลับ  ซึมเศร้า  เป็นโรคทางจิตใจ  เดี๋ยวนี้เราใช้ยาช่วยได้อย่างดี  เอายากล่อมประสาทให้กินหรือฉีดยา  ก็นอนหลับ  สบายใจ  หายกลุ้มกังวล  ช่วยได้มากมาย  วิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีในทางการแพทย์ช่วยคนไว้มากหลาย  ข้อนี้เราต้องยอมรับความจริง  คนเสียสติ  คนจิตวิปลาส  วิทยาศาสตร์มีส่วนช่วยแก้ไขได้
วิทยาศาสตร์อาจจะมองว่า  ต่อไปภายหน้า  เราจะทำให้มนุษย์มีความสุขโดยใช้สารเคมี  เพราะฉะนั้นจะผลิตยาพวกนี้มาเป็นแคปซูล ๆ เวลาไม่สบายก็ไปซื้อยานี้มาทาน  มันจะไม่ใช่เป็นยาหรอก  ต่อไปมันจะเป็นตัวสิ่งที่ให้ความสุขไปเลย  จะเป็นวัตถุที่ให้ความสุข  ไม่ใช่เป็นยา
ทีนี้วิทยาศาสตร์ก็คอยศึกษา  เวลาคนมีความสุข  มีความปลื้มใจ  เป็นต้น  สมองหลั่งสารอะไรออกมา  อ้อ หลั่งสารอย่างนี้ออกมา  จับได้แล้ว  เราก็ไปผลิตสารนี้มา  เสร็จแล้วคนมีอาการไม่สบายใจ  กลุ้มใจ  เครียด  กังวลมา  ก็ฉีดเข้าไป  ให้กินเข้าไป  ก็สบายใจไปทันที  ดู ๆ ไป  วิทยาศาสตร์เหมือนเนรมิตได้  คงจะแก้ปัญหาของโลกได้หมด  ก็ทำให้สบายใจนี่  ต่อไปมนุษย์ก็ไม่ต้องกลัว  มีสารมีวัตถุเหล่านี้ขายเกลื่อนกล่นเหมือนกับอาหาร  ใครไม่สบายใจ  หรืออยากมีความสุขก็ไปซื้อเอามา  ก็สุขสบายไม่มีทุกข์
แต่ว่า  มองไปอีกทีหนึ่ง  แหม  แค่สารพิษ  สารเคมีในอาหารอะไรต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้ก็แย่พอแล้วนะ  ยังจะไปเพิ่มอีก  แต่อันนี้ก็ไม่สำคัญเท่าไร  ที่สำคัญมากกว่านั้นก้มองที่ระบบคุณค่า  ทางพระศาสนานี้  เราถือว่ามนุษย์จะต้องเดินก้าวหน้าไปสู่อิสรภาพ  พัฒนาสู่ความเป็นอิสระมากขึ้น  หมายความว่ามนุษย์จะต้องมีความสามารถในการที่จะมีความสุขได้ด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น  พึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกน้อยลง  พัฒนาชีวิตให้เป็นไท  ไม่เป็นทาสที่ต้องขึ้นต่ออะไร ๆ นอกตัวพะรุงพะรังไปหมด  แต่วิธีการแบบนี้จะกลายเป็นว่า  ทำให้มนุษย์ต้องฝากความสุข  ฝากชะตากรรมไว้กับวัตถุภายนอกยิ่งขึ้น  ยิ่งอยู่ด้วยตนเองไม่ได้มากยิ่งขึ้น ๆ หมดอิสรภาพ  ถ้าเป็นอย่างนั้น  ก็จะเป็นวิถีทางไปสู่ความสูญเสียอิสรภาพของมนุษย์  มนุษย์จะอยู่ด้วยตนเองโดยลำพังตัวเองไม่ได้อีกต่อไป
อนึ่ง  เมื่อว่าโดยสาระ  ถ้าวิทยาศาสตร์เจริญไปในลักษณะเช่นนั้น  คือทำให้คนต้องพึ่งอาศัยขึ้นต่อปัจจัยภายนอกมากขึ้น  วิทยาศาสตร์ก็จะไม่ต่างอะไรกับศาสนาโบราณ  ที่ให้มนุษย์ฝากชะตากรรมไว้กับการบวงสรวงอ้อนวอนเทพเจ้า  คือต่างก็มอบสุขทุกข์ของมนุษย์ไว้กับอำนาจดลบันดาลจากภายนอกเช่นเดียวกัน  ฝ่ายหนึ่งฝากไว้กับวัตถุ  อีกฝ่ายหนึ่งฝากไว้กับสิ่งที่เป็นนามธรรม  แต่สาระคือความสูญสิ้นอิสรภาพหรือหมดความเป็นไท  เช่นเดียวกัน
ถ้าขืนเป็นอย่างนั้นและถ้าถึงขั้นนั้นแล้วเราก็เลิกเป็นมนุษย์ได้  คือ  เราไม่ใช่มนุษย์ธรรมชาติแล้ว  มันเป็นมนุษย์วิทยาศาสตร์  มนุษย์เทียม  หรือจะกลายเป็นมนุษย์อะไรชนิดหนึ่ง  ที่สภาพธรรมชาติอาจจะรองรับไม่ได้ก็ได้  นี้ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง
ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องของความไม่เพียงพอ  คือ  วิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ของมนุษย์  ถ้าพูดด้วยศัพท์ทางธรรม  ก็สรุปได้สั้น ๆ ว่า  วิทยาศาสตร์ (พร้อมทั้งเทคโนโลยี)  ไม่ช่วยให้คนมีพฤติกรรมที่ดีงาม  หรือเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์ (ศีล)  ไม่ช่วยให้คนมีคุณธรรม  หรือมีจิตใจเป็นสุข (สมาธิ)  และมีตาข้างเดียว  คือตาที่สำรวจเก็บข้อมูลความรู้  แต่ไม่มีตาที่จะนำหรือบอกทางว่าจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง  หรือควรจะดำเนินชีวิตให้ดีงามมีความสุขได้อย่างไร (ปัญญา)
ข้อติดขัดประการต่อไปก็คือรอไม่ได้  เพราะว่าความรู้ของวิทยาศาสตร์ยังไม่ถูกต้องถ่องแท้สมบูรณ์  ยังไม่สามารถให้คำตอบที่แน่นอนเด็ดขาดและไม่รู้ว่าเมื่อไรวิทยาศาสตร์จะเข้าถึงความจริงที่แท้  ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นก้าวไปเรื่อย ๆ  สมัยหนึ่งเคยว่าอันนี้จริง  ต่อมาก็พบว่าผิด  แล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ  ถ้าเราขืนรอความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้บอกความจริงของธรรมชาติเสร็จสิ้น  เราก็อยู่ไม่ไหวและทำอะไรไม่ได้  เราแต่ละคนก็คงตายไปก่อน  ชีวิตนี้ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่กันอย่างไร  แล้วมนุษย์ก็เป็นอันว่า  ไม่มีทางบรรลุชีวิตที่ดีงาม
นักวิทยาศาสตร์หา general  principle  คือหลักการทั่วไปให้เราอยู่เรื่อย  แต่กฎเกณฑ์ที่ค้นพบนั้น  แม้จะเป็น general  ที่ว่าทั่วไป  แต่มันก็เป็นกฎปลีกย่อย  เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย  ในภาพรวมของความจริงที่ครอบคลุมสำหรับชีวิต  ซึ่งศาสนาให้คำตอบครอบคลุมไปทีเดียวเลย  ทุกครั้ง ๆ ไป  ให้คำตอบทีเดียวเสร็จ
เอาเป็นว่า  ในระหว่างที่วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถให้คำตอบความจริงขั้นพื้นฐานได้  ตอนนี้เราก็อาศัยวิทยาศาสตร์ในรูปของเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องประเทืองชีวิต  ประโลมใจไปพลางก่อน  ตอนนี้  ตัวที่มาช่วยมนุษย์ก็คือเทคโนโลยี  ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่เอามาใช้ประโยชน์ได้  อาศัยเกื้อกูลสำหรับดำเนินชีวิต  แต่เทคโนโลยีนี้ไม่สามารถจะตอบคำถามพื้นฐานของมนุษย์  เพราะฉะนั้น  ในด้านคำตอบความจริง(หรือไม่จริง)  พื้นฐานของธรรมชาติ  มนุษย์ก็อาศัยศาสนาไปก่อน  และอาศัยวิทยาศาสตร์เพียงแค่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาเสริมแต่งความสุขสบายด้านนอกของชีวิต  นี่คือสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทำไมมนุษย์จึงยังต้องอาศัยศาสนาอยู่  ทำไมศาสนาจึงยังอยู่ในโลกได้จนกระทั่งปัจจุบัน  ก็เพราะว่า  มนุษย์ยังต้องการคำตอบชนิดครอบคลุมรวบยอดทีเดียวจบ  พอแก่การ  และใช้ได้ทันทีนี้อยู่ตลอดเวลา  ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริง  เพราะยังไม่อาจพิสูจน์ได้  และเพราะพิสูจน์ยังไม่ได้และวิทยาศาสตร์ก็ช่วยในขั้นนี้ไม่ได้นี้แหละ  จึงทำให้ต้องอยู่ด้วยความเชื่ออย่างนั้น
ถ้ามองในแง่นี้จะเห็นว่า  แม้ปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์จะได้เจริญก้าวหน้ามาแล้วอย่างมากมายเหลือเกิน  ก็ได้แต่ขยายมิติด้านวัตถุอย่างเดียวออกไปอย่างกว้างขวางละเอียดพิสดาร  แต่เมื่อพูดถึงการตอบปัญหาพื้นฐานของมนุษย์  ที่จะให้มนุษย์จัดวางชีวิตของตนลงในโลกอย่างลงตัวได้ที่แล้ว  ตลอดเวลาที่ยาวนานยิ่งนี้  วิทยาศาสตร์ยังเสมือนย่ำอยู่กับที่  ยังไปไม่ถึงไหนเลย
ว่ากันไป  ไม่เฉพาะในระดับตัววิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เท่านั้น  ที่ว่าจะมีปัญหาเป็นเรื่องผิดพลาดต้องแก้ไขกันเป็นระยะ ๆ แม้แต่   ในระดับวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี  ก็มีปัญหาอยู่บ่อย ๆ  ซึ่งบางทีไม่ใช่ถึงกับเป็นการผิดหรอก  แต่มันเนื่องจากว่า  ความรู้ไม่ทั่วถึง  ไม่แทงตลอดในเรื่องนั้น ๆ  มองความจริงกันด้านเดียวแง่เดียวหรือสองด้านสามแง่  แต่ต่อมาพบความจริงในด้านอื่นแง่อื่นอีที่ไม่ได้มองหรือมองไม่ถึง  ก็เลยกลายเป็นว่า  ที่ทำมานั้นเสียหายหรือเป็นภัยอันตราย  ต้องรีบเลิกละเสีย
ยกตัวอย่างเช่น  กรณียาคลอแรมเฟนนิคอล (chloramphtnicol)  สมัยหนึ่งนั้น  นิยมกันหนักหนาว่าเป็นยาครอบจักรวาล  เป็นอะไรก็กินหาย  คนดีใจกันใหญ่  ต่อไปนี้เราสบายแล้ว  เป็นโรคอะไรก็ไปซื้อคลอแรมเฟนนิคอลกิน  ตามตลาดวางขายกันเกลื่อน  ต่อมาหลายปี  สัก ๑๐ ปีหรือประมาณนั้น  ค้นพบว่า  คลอแรมเฟนนิคอลนี่  พิษร้ายเหลือเกิน  ก่ออันตรายโดยไม่รู้ตัว  ปรากฏว่า  หลายคนตายไปแล้ว  มันไปทำให้เยื่อในกระดูกหรือไขกระดูกไม่ผลิตเลือด  คนตายเพราะเหตุนี้ไม่น้อย  เพราะเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดหรืออะไรพวกนี้
ต่อมา  กรณีดีดีที  ตอนนั้นก็นึกว่า  ได้ดีดีทีขึ้นมาสบายแล้ว  ต่อไปนี้ไม่ต้องกลัวแมลงแล้ว  มดหมด  ยุงหมด  แมลงร้ายจะหมด  มนุษย์เราจะสบายไม่ถูกรบกวนจากแมลง  ต่อมาอีกหลายปี  ก็ค้นพบความจริงว่า  ดีดีทีนี่มันพิษร้าย  เป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อชีวิต  แม้แต่มะเร็งมันก็อาจจะทำให้เกิดได้  แล้วยิ่งกว่านั้นก็คือว่า  ในขณะที่มนุษย์แย่นี้  พวกแมลงต่าง ๆ มันสร้างภูมิต้านทางได้เก่งกว่า  ต่อมาปรากฏว่า  พิชิตแมลงไม่ได้แต่จะมาพิชิตมนุษย์อะไร  ทำนองนี้  หลายประเทศก็เลยบอกให้เลิกใช้ดีดีที  แต่ประเทศไทยยังใช้กันอยู่บ้าง  ก็แล้วแต่จะว่ากันไป
กรณียาทาลิโดไมด์ (Thalidomide)   ยิ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนและเตือนใจได้มาก  เป็นยาแก้ปวดหัวกล่อมประสาทที่วงการแพทย์ชื่นชมกันนัก  บอกว่าผ่านการพิสูจน์ทดลองกันมาอย่างละเอียดรอบคอบ  มั่นใจนักหนาถึงกับประกาศว่าเป็นยาที่ปลอดภัยเป็นพิเศษ  ถึงขนาดประเทศพัฒนาแล้วที่มีชื่อว่ากวดขันเรื่องยามาก  ให้โอกาสประชาชนซื้อหามาโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์  แล้วก็ขายกันนานถึง ๕ ปี ถึง พ.ศ. ๒๕๐๕  จึงได้รู้ว่าเป็นตัวสาเหตุให้หญิงมีครรภ์คลอดลูกออกมาพิกลพิการมากมาย  กว่าจะค้นพบและถอนยาออกจากตลาด  เด็กเกิดมาขาด้วยกุดไปแล้วราว ๘,๐๐๐ ราย
ขอยกอีกตัวอย่าง  กรณีสาร CFC (Chlorofluorocarbon)  ชื่อมันยาว  เอาเฉพาะตัวย่อ  เจ้านี้เอามาใช้หลายเรื่อง เช่น ตู้เย็น  เครื่องทำความเย็น  หรือแอร์คอนดิชั่นเนอร์  แล้วก็ใช้ในพวกกระป๋องฉีดให้อากาศหอมอะไรทำนองนี้  สารพวกนี้ใช้กันมานาน  อย่างตายใจ  กว่าจะรู้ตัว  ปรากฏว่า  มันขึ้นไปในบรรยากาศโน่น  ไปทำให้เกิดช่องโหว่ในชั้นโอโซน  หรือ ozone layer  ขึ้นมา  โหว่ไปเสียมากแล้วก็ตกใจ  เอาอีกแล้ว  ตอนนี้เกิดวิตกกันใหญ่  ประชุมกันในระดับโลกว่าจะแก้ไขอย่างไร  ozone  layer  จะโหว่กันใหญ่แล้ว  แย่แล้ว  มนุษยชาติกำลังเผชิญภัยอันตราย  อาจจะร้ายแรงแทบสูญสิ้น  ก็เป็นอันว่าได้ความรู้ขึ้นมาใหม่  เอาอีกแล้ว  สิ่งที่เชื่อมาว่าดีมีประโยชน์มากนิยมใช้กันนี่มีโทษอีกแล้ว  ต้องทบทวนแก้ไขกันใหม่
แต่ก่อนนี้ระยะหนึ่ง  แม่ชอบเลี้ยงลูกด้วยนมขวด  นิยมกันไปทั่วหมดเลย  ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายพากันใช้นมขวดเลี้ยงลูกแทนนมมารดากันมา  จนกระทั่งปัจจุบันนี้จึงหันเหทิศทางใหม่  กลับไปหาธรรมดาธรรมชาติเดิม  องค์การโลกกำลังพยายามชี้แจง  แนะนำประชาชนให้หันมาเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา  เพราะนมขวดนี่มันมีข้อเสีย  มีข้อบกพร่องหลายอย่าง  และอันตรายด้วย  เมื่อ ๒-๓ วันนี้  VOA  ก็ออกข่าวปัญหาเรื่องแบคทีเรียมาอยู่ที่หัวจุก  ที่เป็นยางหรือพลาสติกอะไรต่าง ๆ พวกนี้
นี่ก็เป็นบทเรียนต่าง ๆ ที่เตือนว่ามนุษย์จะต้องมีความรอบคอบและรู้รอบด้านยิ่งขึ้นในการปฏิบัติต่อวิทยาศาสตร์  ในที่นี้ยกมาเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความไม่เพียงพอและรอไม่ได้  ซึ่งที่จริงมันเป็นเรื่องใหญ่  ถ้ามีเวลาจะหวนกลับมาอีกทีหนึ่ง
มนุษย์จะประสบคุณค่าสูงสุดได้
ต้องให้วิทยาศาสตร์กับศาสนา บรรลุจุดบรรจบ
ก่อนจะผ่านตอนนี้ไป  ขอตั้งข้อคิดข้อสังเกตแทรกเข้ามาอีกสักหน่อย  การเกิดขึ้นและเจริญพัฒนาของวิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมานี้  เรายอมรับโดยไม่เถียงว่าได้ช่วยให้เกิดความก้าวหน้าทางสติปัญญาแก่มนุษยชาติ  แต่ในเวลาเดียวกันนั้น  ถ้ามองให้ดีจะเห็นว่า  การเกิดขึ้นและเจริญของวิทยาศาสตร์นั้น  ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมถอยในทางสติปัญญาแก่สังคมมนุษย์ด้วย  เรื่องเป็นอย่างไร
ในยุคที่ผ่านมา  เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นและเจริญก้าวหน้า  สังคมมนุษย์ได้ชื่นชมนิยมวิทยาศาสตร์มาก  มนุษย์พากันตื่นเต้นกับการค้นพบความจริงใหม่ทางวิทยาศาสตร์  และหลงใหลคลั่งไคล้กับฤทธิ์เดชอันน่าอัศจรรย์ของเทคโนโลยี  แล้วก็พากันฝากความหวังไว้กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าจะตอบคำถามและแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ทุกอย่าง  ความจริงทุกอย่างของธรรมชาติจะถูกเปิดเผย  แล้ววิทยาศาสตร์ก็จะนำมนุษย์ไปสู่ความสุขสมบูรณ์ 
มนุษย์ที่เชื่อมั่นและฝากความหวังไว้กับวิทยาศาสตร์เหล่านี้  ได้หันกลับไปตั้งข้อสงสัยเอากับศาสนาและคำตอบเกี่ยวกับความจริงต่าง ๆ  ที่ศาสนาแสดงไว้  บ้างก็หมดความเชื่อถือ  ปฏิเสธ  หรือทอดทิ้งศาสนาไปเลย
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า  ความจริงของธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์  สนใจศึกษาค้นคว้านั้นเป็นเพียงบางด้านบางส่วน  คือโลกธรรมชาติแห่งวัตถุภายนอกเท่านั้น  วิทยาศาสตร์ไม่ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับโลกธรรมชาติแห่งชีวิตภายใจของมนุษย์  ซึ่งเป็นแดนที่มนุษย์เคยได้คำตอบจากศาสนา
การที่มนุษย์สมัยใหม่ผละจากศาสนานั้น  ถ้าหมายถึงเฉพาะศาสนาที่เกิดมีเป็นรูปแบบหรือสถาบันศาสนา  ก็ไม่เสียหายมากนัก  แต่การผละหรือทอดทิ้งศาสนาในที่นี้  หมายถึงการทอดทิ้งไม่ใส่ใจต่อการแก้ปัญหาภายในของมนุษย์เอง  ในส่วนที่เคยเป็นแดนสนใจของศาสนา  โดยหลงไปว่าวิทยาศาสตร์  จะให้คำตอบทั้งหมด   เมื่อวิทยาศาสตร์ก็มองไป ไม่ได้ให้คำตอบด้านนี้  และมนุษย์เองก็ผละทิ้งไป ก็เกิดช่องโหว่อันใหญ่ คำตอบเท่าที่คิดค้นกันมาของศาสนาถูกละเลย  และเกิดความสะดุดชะงักในกระแสการพัฒนาทางสติปัญญาของมนุษย์ในทางที่จะรู้เข้าใจและจัดการกับธรรมชาติของมนุษย์ในด้านนี้  และมิใช่แค่สะดุดชะงักเท่านั้น  บางครั้งก็กลายเป็นการถอยหลังย้อนกลับไปไกลทีเดียว
ธรรมชาติของโลกและชีวิต  พร้อมทั้งปัญหาของมนุษย์เอง  ไม่อนุญาตให้มนุษย์ทอดทิ้งหรือละเลยความต้องการทางศาสนาไปได้  คำตอบสำหรับความจริงพื้นฐานที่รวบยอดครอบคลุมและใช้การทันที  ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์อยู่อย่างเดิม
เมื่อวิทยาศาสตร์ไม่ให้และไม่สามารถให้คำตอบที่จะสนองความต้องการอย่างนี้ได้  และเมื่อมนุษย์คลายความตื่นเต้นต่อวิทยาศาสตร์ลง  พร้อมกับที่วิทยาศาสตร์คลายเสน่ห์  มนุษย์ก็กลับรู้สึกตัวต่อความต้องการพื้นฐานของตน  มนุษย์เหล่านี้ก็กลับหันมาแสวงหาคำตอบทางศาสนากันใหม่
แต่ในเมื่อกระแสการพัฒนาสติปัญญาด้านนี้ของมนุษย์  ขาดตอนหรือเลือนลางไปแล้ว  การแสวงหานั้นบางทีก็เป็นไปอย่างเปะปะ  บางทีก็กลายเป็นการเริ่มต้นใหม่  ดังที่เกิดเป็นปรากฏการณ์ทางศาสนาในสังคมที่พัฒนาแล้วอย่างสูงในทางวิทยาศาสตร์  เกิดสภาพหลงใหลงมงายท่ามกลางความเจริญของวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าวิทยาศาสตร์จะปราศจากคุณค่าทางสติปัญญาแก่พัฒนาการด้านศาสนาเสียทีเดียว  เป็นที่รู้กันว่าทางฝ่ายศาสนา  โดยเฉพาะในรูปที่เป็นสถาบัน  ได้เคยมีปัญหาเป็นอันมาก  บางครั้งบางแห่งถึงกับมีบทบาทในการบีบค้นปิดกั้นการพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์  ศาสนาบางแห่งก็ลงร่องยึดติดอยู่กับความเชื่อและข้อปฏิบัติที่ไร้เหตุผล  บางศาสนาก็คลาดเคลื่อนเขวออกไปจากแนวทางและหลักการที่แท้ของตนเอง
ความเจริญของวิทยาศาสตร์   โดยเฉพาะทัศนติและวิธีวิทยาศาสตร์  ได้ก่อผลกระทบต่อสถาบันศาสนาและกระแสความโน้มเอียงบางอย่างทางศาสนาในสังคม  อย่างน้อยก็ทำให้เกิดเป็นโอกาส  หรือเป็นตัวกระตุ้นให้วงการศาสนามีการทบทวนปรับตัวใหม่  หรือเปลี่ยนท่าทีใหม่  และตรวจสอบคำตอบของศาสนาต่าง ๆ   เท่าที่มีอยู่แล้ว  ตลอดจนมีการพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้อีกเมื่อโอกาสมาถึง
เฉพาะอย่างยิ่ง  เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้  พอดีกับที่ในวงการของวิทยาศาสตร์เองบางส่วนได้ตื่นตัวใหม่  และเริ่มมีการปรับเปลี่ยนท่าที  นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำไม่น้อยเห็นว่า  การที่วิทยาศาสตร์จะให้คำตอบที่แสดงความจริงของธรรมชาติแก่มนุษย์ได้อย่างถึงขั้นพื้นฐานหรือครอบคลุมนั้น  จำเป็นจะต้องขยายขอบเขตการศึกษาสืบค้นให้พ้นเลยขอบเขตโลกธรรมชาติแห่งวัตถุออกไป  คือจะต้องสนใจธรรมชาติส่วนที่เคยเป็นแดนสนใจของศาสนามาแต่เดิมด้วย
อย่างไรก็ดี  ถ้ามองในแง่ของคนหมู่ใหญ่  โดยเฉพาะในสังคมของประเทศที่ตามรับความเจริญอันเนื่องมาจากวิทยาศาสตร์เจตคติและวิธีการวิทยาศาสตร์ที่เป็นสาระสำคัญของวิทยาศาสตร์ดูจะไม่ค่อยเจริญงอกงาม  และไม่สู้มีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจ  ตลอดจนการดำเนินชีวิต  และการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ  ของผู้คนทั้งหลาย
ตัววิทยาศาสตร์เอง  ไม่ใช่เป็นจุดที่สนใจของคนทั่วไป  แม้ว่าคนเหล่านั้นจะมองวิทยาศาสตร์ด้วยความชื่นชมเชื่อถือ  เขาก็จะมีความเชื่อในลักษณะที่เหมือนกับเห็นเป็นของศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์เดชมาก  เป็นทำนองที่เรียกว่า  scientism  อย่างที่มีในคนบางกลุ่มบางพวกในประเทศตะวันตก  คนส่วนใหญ่จะนึกถึงวิทยาศาสตร์  โดยมองข้ามวิทยาศาสตร์ไปหาเทคโนโลยี  และมองในแง่ของการที่จะเสพเสวยหรือบริโภคเทคโนโลยี  หรือหาผลประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านั้น  ด้วยเหตุนี้  ความเจริญของวิทยาศาสตร์  จึงไม่ค่อยมีอิทธิพลหรือส่งผลอย่างคุณค่าทางด้านความรู้และความคิดหรือในทางภูมิปัญญาแก่ประชาชน  พูดสั้น ๆ  ว่า  สาระของวิทยาศาสตร์หาได้เจริญงอกงามขึ้นมาไม่
มองในแง่ดี  เวลานี้คนทั่วไปก็ได้คลายความตื่นเต้นต่อวิทยาศาสตร์  ก็ได้หันมาเห็นตระหนักถึงความต้องการทางศาสนาของตนและพากันแสวงหาคำตอบทางด้านนี้กันอีก  ศาสนาต่าง ๆ  ที่มีมากหลาย  ก็จะสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาในระดับต่าง ๆ  กัน  และพร้อมกันนั้น  วงการวิทยาศาสตร์อย่างน้อยบางส่วนก็ได้รู้ตระหนักถึงขีดจำกัดแห่งการแสวงหาความจริงในธรรมชาติของวิทยาศาสตร์แบบที่ถือกันมา  และกำลังขยายขอบเขตการศึกษาค้นคว้าออกมาสู่แดนของศาสนาด้วย  จึงอาจจะทำให้เกิดความหวังขึ้นได้ว่า  วิทยาศาสตร์ที่พัฒนาสูงสุดจะมาบรรจบประสานกลมกลืนเข้ากับศาสนาที่พัฒนาสูงสุด  และสามารถนำมนุษย์เข้าถึงความจริงแท้  พร้อมทั่งสันติสุข  และอิสรภาพที่ชีวิตและสังคมต้องการ
ถ้ามองไปอีกแง่หนึ่ง  วิทยาศาสตร์ก็เหมือนกับเป็นความพยายามที่จะพิสูจน์หาความจริงที่ศาสนาบอกไว้ล่วงหน้า  คือ  ในระหว่างที่มนุษย์ยังรอไม่ได้นี่  เราต้องการคำตอบชนิดหนึ่งที่ทันทีทันใดไว้ก่อน  และคำตอบนั้นกลายเป็นศาสนา  เราก็พูดว่า  ศาสนาให้คำตอบอย่างนี้  ที่จริงก็คือ  คำตอบของมนุษย์นี่แหละกลายเป็นศาสนา  แต่เราพูดเป็นภาพพจน์ว่า  ศาสนาให้คำตอบอย่างนี้ประเภทนี้  คำตอบนี้ให้ไว้  ยังพิสูจน์ไม่ได้  แต่จำเป็นต้องใช้ไปก่อน  แล้ววิทยาศาสตร์ก็ค่อย ๆ  พิสูจน์คำตอบนี้ต่อไป
เมื่อมองอย่างนี้ก็กลายเป็นว่า  วิทยาศาสตร์เป็นความเพียรพยายามของมนุษย์ที่จะพิสูจน์ความจริงที่ศาสนาบอกไว้ล่วงหน้า  และถ้ามองอย่างนี้ก็เป็นการประสานกลมกลืนกันอีกอย่างหนึ่ง  เพราะว่า  เมื่อเริ่มจากจุดกำเนิดร่วมกันแล้ว  พอถึงปลายทางมันก็จะไปบรรจบรวมกันอีกเหมือนกัน
ทีนี้  วิธีการวิทยาศาสตร์ที่ใช้กันมานั้น  ต่อไปภายหน้าอาจจะปรากฏขีดจำกัดขึ้นมาอย่างทีว่าเมื่อกี้  คือไม่อาจพิสูจน์ความจริงที่ศาสนาบอกได้  ดังที่ตอนนี้ก็ชักจะเป็นอย่างนั้น  เดี๋ยวนี้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจำนวนไม่น้อยกำลังคิดอย่างนั้น  เขาคิดว่าความจริงขั้นสุดท้ายที่ศาสนาบอกนั้น  วิธีการวิทยาศาสตร์จะไม่อาจบอกได้เลย  ไม่ว่าในยุคสมัยใดทั้งสิ้น  เวลานี้นักฟิสิกส์ชั้นนำหลายคนคิดอย่างนั้น  ถ้ามีเวลาเราจะกลับมาพูดเรื่องนี้กันอีก
เอาละ  เป็นอันว่า  วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของบุคคลบางคนบางกลุ่มที่คิดหาความรู้  ซึ่งได้กลายไปเป็นเรื่องของวิชาการ  แต่ศาสนาเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกคน  ที่อยู่ในชีวิตจริง  ทั้งที่เป็นส่วนตัวและที่อยู่รวมกันเป็นสังคม  ที่จะต้องปฏิบัติต่อชีวิตและสังคมของตน  และหาจุดลงตัวในโลกหรือในธรรมชาติที่ตนอาศัยอยู่  วิทยาศาสตร์อาจจะทำให้ตัวของมันกลายเป็นศาสนาไปทันที  นี้ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ให้พิจารณาในขั้นนี้
ตอนนี้ได้พูดเรื่องวิทยาศาสตร์มาจนถึงศาสนาแล้ว  เราก็ได้เห็นจุดกำเนิดและวิวัฒนาการสืบต่อมาทั้งของวิทยาศาสตร์และศาสนา  ตอนนี้เราจะเข้ามาถึงเรื่องพุทธศาสนาบ้างละ  นี่เพิ่งจะมาเข้าถึงเรื่อง  ที่ผ่านมานั้นเป็นอารัมภบท
วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา จุดแยกหรือจุดบรรจบ
เป็นศาสนาเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน
เมื่อพูดถึงพุทธศาสนา  ก็ต้องพูดถึงจุดเริ่มของพุทธศาสนาก่อน  เมื่อกี้บอกว่า  จุดเริ่มของศาสนาคือความกลัวภัย  ทีนี้จุดเริ่มของพุทธศาสนาคืออะไร  จุดเริ่มของพุทธศาสนาก็คือ  ความกลัวทุกข์เปลี่ยนจากภัยมาเป็นทุกข์   ไม่เหมือนกันนะ  ต้องระวัง
ในตอนของศาสนาทั้งหลายนั้นเป็นภัย  แต่มาในตอนของพุทธศาสนานี่เป็นทุกข์  ซึ่งมีความหมายครอบคลุมกว่า  กล่าวคือ  จุดเน้นของความกลัวภัยนั้นไปอยู่ทีเหตุปัจจัยภายนอก  เช่น  น้ำท่วม  แผ่นดินไหว  ไฟป่า  พายุพัดอะไรต่าง ๆ  อย่างที่ว่าเมื่อกี้  แต่พอมาถึงเรื่องทุกข์นี่มันครอบคลุมปัญหาทั้งหมดตลอดถึงในตัวมนุษย์เอง
ทุกข์คืออะไร  คือสภาพบีบคั้น  ติดขัด  คับข้อง  ก็ได้แก่ปัญหาของมนุษย์นั่นเอง  ในแง่หนึ่ง  พูดง่าย ๆ  ทุกข์ก็คือ  ปัญหา  เพราะ ปัญหาก็คือ  สิ่งบีบคั้น  ติดขัด  ขัดข้อง  ของมนุษย์
ศาสนาต่าง ๆ  นั้น  มองหาแหล่งเกิดภัย  หมายความว่า  เมื่อต้องการพ้นภัยก็มองหาแหล่งเกิดภัย  ในระยะแรก  ศาสนาเหล่านั้นมองไปที่อะไร  ( ที่จริงไม่ใช่ศาสนามองหรอกก็คือมนุษย์นั่นเองแหละที่มอง  แต่พูดให้เป็นภาพ )  ก็นึกถึงคนนี่แหละ  เพราะว่าเท่ารู้ ๆ  เห็น ๆ  กันอยู่  สิ่งต่าง ๆ  จะเป็นอย่างไรก็ต้องมีผู้ทำ  ในเมื่อสิ่งทั้งหลายในโลกมนุษย์นี่  มนุษย์ทำ  แต่สิ่งใหญ่ ๆ  ในธรรมชาติเหล่านี้  มนุษย์ทำไม่ได้    แต่ก็ต้องมีผู้ทำ  ก็นึกหาผู้ทำ  นึกหากันไปก็ได้ผู้ทำที่เรียกว่าเทพเจ้าหรือเทวดา  ก็เลยมองไปที่เทวดา  ว่าเป็นที่มาของภัยเหล่านั้น  หรืออาจจะเรียกว่า  อำนาจลึกลับภายนอกที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติเป็นผู้บันดาลพาเมฆมา  พาพายุมา  พาน้ำมา  พาไฟมาอะไรต่าง ๆ  เหล่านี้  พอถึงขั้นนี้ก็เกิดมีศาสนาที่มีเทวดาหลายองค์บ้าง  องค์เดียวบ้าง  จนกระทั่งแม้แต่เป็นภาวะหนึ่งเดียวที่เลยจากขั้นเทวดาไปแล้ว
เมื่อมนุษย์มองตามระบบการลงโทษและให้รางวัล  ก็เห็นว่าต้นตอภัยอยู่ที่ไหน  จุดระงับภัยก็ต้องอยู่ที่นั่น  ตอนแรกก็มองแบบมนุษย์นี่แหละ  คือคนเราก็มองคนด้วยกัน  ก็เห็นกันอยู่ว่าผู้ใหญ่มีอำนาจมากกว่า  เมื่อคนเล็กมาทำไม่ชอบใจเขาก็ทำร้ายเอา  ลงโทษเอา  แต่ถ้าคนเล็กทำดีคนใหญ่ชอบใจก็ให้รางวัล  เมื่อมองไปที่สิ่งใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติก็คิดแบบเดียวกัน  ก็เอาภาพของมนุษย์ไปใส่ให้เทวดา  เพราะฉะนั้น  จึงมีนักจิตวิทยาสมัยหลังบอกว่า  มนุษย์สร้างเทวดาจากฉายาของมนุษย์  ซึ่งไปขัดกับคำสอนของศาสนาคริสต์  ที่ว่า  พระเจ้าสร้างมนุษย์จากฉายาของพระเจ้า หรือ พระผู้เป็นเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาจากรูปเสมือนของพระองค์  แต่นักจิตวิทยาสมัยหลังนี่  เมื่อพูดถึงเรื่องกำเนิดของศาสนาบางท่านบอกว่า  มนุษย์สร้างเทวดาจากรูปเหมือนของมนุษย์  ก็แล้วแต่ว่าจะคิดหาเหตุผลมาแสดงกันไป
เป็นอันว่า  มนุษย์ก็คิดว่า  เทวดาเหล่านี้แหละ  เป็นต้นตอของเภทภัยอันตรายทั้งหลาย  เพราะฉะนั้น  เราต้องเอาใจคนที่มีอำนาจฉันใด  เราก็ต้องเอาใจเทวดาฉันนี้  ก็เลยเกิดมีวิธีการขึ้นมา  ในการที่จะช่วยตัวเองให้พ้นภัยโดยการไปแสดงความเคารพอ่อนน้อม  กราบไหว้  อ้อนวอน  ขอผล  เป็นอันว่า  ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดผลในศาสนาโบราณเหล่านั้น  ก็คือ  การดลบันดาลของเทพเจ้า  ซึ่งไม่ใช่วิสัยของมนุษย์
ตัวโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าหรืออำนาจดลบันดาลเหล่านั้น  ก็คือ  ศรัทธา  หรือความเชื่อ
เมื่อเชื่อในพระองค์  เคารพในพระองค์แล้ว  ก็แสดงออกเป็นวิธีการ  วิธีการก็คือ  การบวงสรวงอ้อนวอน
เป็นอันว่าได้ครบแล้ว  คือ  ตัวกำหนดผล  ได้แก่  การบันดาลของเทพเจ้า  ตัวสัมพันธ์  ได้แก่  ศรัทธา  วิธีการปฏิบัติ  ได้แก่  การบวงสรวงอ้อนวอน  อันนี้เป็นระบบความเชื่อในศาสนาต่าง ๆ  เท่าที่เป็นมา
ทีนี้  พอพุทธศาสนาเกิดขึ้น  เราก็เอาหลักการเหล่านี้มาปรับดูว่า  จะเป็นอย่างไร  พุทธศาสนานั้น  อย่างที่พูดไปแล้วว่า  ต้องการพ้นทุกข์  ไม่ต้องการมีความทุกข์  ถึงตอนนี้ก็จะมีความใฝ่ปรารถนาที่จะพ้นทุกข์ขึ้นมา  เพราะฉะนั้น  จุดกำเนิดของพุทธศาสนาก็คือ  ความใฝ่ปรารถนาจะพ้นทุกข์  หรือความใฝ่ปรารถนาภาวะไร้ทุกข์
เป็นอันว่า  ความใฝ่ปรารถนาภาวะไร้ทุกข์เป็นจุดกำเนิดของพุทธศาสนา  ต่อจากนั้นในกระบวนการแก้ไขจะทำอย่างไร  เมื่อเราต้องการพ้นจากทุกข์ก็จะต้องมีวิธีการแก้ทุกข์  จะรู้วิธีนั้นได้ก็ต้องดูต้นกำเนิดของทุกข์  ต้นกำเนิดของทุกข์อยู่ที่ไหน  ศาสนาเก่าบอกว่าภัยนั้นต้นกำเนิดมาจากเทวดา  แต่พุทธศาสนาบอกว่า  การเกิดขึ้นขอบทุกข์เป็นกระบวนการของเหตุปัจจัย  เป็นกฎธรรมชาติ  ซึ่งจะต้องรู้เข้าใจ
ทุกข์นี้มีต้นเหตุซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของธรรมชาติ  คือ  หลักของความเป็นเหตุเป็นผล  หรือความเป็นไปตามเหตุผลนั้นแหละเป็นต้นตอให้เกิดทุกข์  เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงสืบสาวหาต้นกำเนิดของความทุกข์โดยมองไปที่ตัวความไม่รู้ไม่เข้าใจเหตุปัจจัยหรือตัวความไม่รู้เข้าใจธรรมชาติและกฎธรรมชาติ ได้แก่  อวิชชา
เป็นอันว่า  ตอนนี้  เรามาถึงจุดกำเนิดของพุทธศาสนาแล้ว  เมื่อกี้นี้ว่า  จุดกำเนิดของศาสนาต่าง ๆ ได้แก่  ภัย  และต้นกำเนิดของ ภัย  ได้แก่เทพเจ้าหรืออำนาจดลบันดาลภายนอก  แต่จุดกำเนิดของพุทธศาสนาบอกว่าได้แก่  ทุกข์  และต้นกำเนิดของทุกข์คือ  ความไม่รู้เข้าใจเหตุปัจจัยของทุกข์นั้น  หรือความไม่รู้เข้าใจกฎธรรมชาติ  กล่าวคือ  กระบวนการแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง
จากจุดเดิม  ศาสนาต่าง ๆ  บอกว่า  ศรัทธา  คือ  ตัวโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับต้นกำเนิดของภัย  พุทธศาสนาก็เปลี่ยนเป็นว่า  ตัวโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปหาต้นกำเนิดของทุกข์นั้นคือ  ปัญญา  หมายความว่า  ย้ายจากศรัทธามาหาปัญญา  นี่  คือ  จุดเปลี่ยนของพุทธศาสนา  มนุษย์จะต้องรู้เข้าใจกระบวนการของเหตุปัจจัยทั้งหลายนั้น  แล้วแก้ไขที่เหตุปัจจัย
ประการสุดท้าย  การแก้ไขที่เหตุปัจจัยนั้นเป็นเรื่องของมนุษย์ที่มนุษย์จะต้องทำ  และเป็นวิสัยที่มนุษย์จะกระทำได้  เพราะฉะนั้น  การแก้ปัญหาก็จะเปลี่ยนจากอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้ามาเป็นการกระทำของมนุษย์
สรุปว่า  จุดทั้ง ๓ นี้เป็นหลักการสำคัญ
๑.  ในศาสนาทั่วไปต้นกำเนิดของภัย  ได้แก่  เทวดา  แต่ในพุทธศาสนา  ต้นกำเนิดของทุกข์  ได้แก่  ความไม่รู้เข้าใจกฏธรรมชาติ
๒.  ตัวโยงไปสู่ต้นกำเนิดนั้น  ในศาสนาต่าง ๆ   ได้แก่ศรัทธาแต่ในพุทธศาสนา   เปลี่ยนมาเป็นปัญญาที่รู้เข้าใจกฏธรรมชาติ
๓.  ตัวกำหนดผล  ในศาสนาทั่วไป  ได้แก่อำนาจดลบันดาล  แต่ในพุทธศาสนาเปลี่ยนมาเป็นการกระทำของมนุษย์
อันนี้ก็คือ  การเปลี่ยนแปลงที่เป็นการปฏิวัติเลยทีเดียว เป็นอันว่า จุดเน้นหรือประเด็นหลักในพุทธศาสนา  ได้ย้ายไปแล้วจากศรัทธามาสู่ปัญญา  ปัญญาที่ว่านี้  ก็เริ่มด้วยความใฝ่รู้  หรือใฝ่ในความรู้เหมือนกัน เพราะการที่จะมีปัญญาได้  เราก็ต้องมีความใฝ่รู้  แต่ความใฝ่รู้นั้นจะมีลักษณะต่างกันซึ่งจะได้วิเคราะห์กันต่อไป
จุดเน้นใหญ่อีกอย่างหนึ่งก็คือ  การเปลี่ยนจากการบันดาลของอำนาจเหนือธรรมชาติ  มาสู่การกระทำความเพียรพยายามของตัวมนุษย์เอง  และในเรื่องนี้พุทธศาสนามีหลักการสำคัญที่ชัดเจนแน่นแฟ้น  กล่าวคือ  ไม่ว่าพุทธศาสนาจะเผยแพร่อออกไปสู่ชาวโลกกว้างขวางก้าวไกลเพียงใด  หรือจะมีความเชื่อถือและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแปลกออกไปอย่างไรก็ตาม  สาระก็ยังคงอยู่ที่จุดสำคัญ ประเด็นสำคัญคือ  การกระทำของมนุษย์  หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาอันนี้  ถ้าเปลี่ยนไปถือว่าผิดเลย  คือ  จุดประเด็นหลักอัน  ได้แก่  การกระทำของมนุษย์
หลักการแห่งการกระทำของมนุษย์ก็สืบมาในรูปที่เรียกว่า  หลักกรรม  นั่นเอง  คนอาจจะเข้าใจตัวกรรมไขว้เขวไปบ้าง  ความเข้าใจผิดอาจแทรกปนเข้ามาในหมู่ชาวพุทธบ้าง  แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม  กรรมก็ยังคือการกระทำของมนุษย์อยู่นั่นแหละ  ไม่ใช่เป็นการบันดาลของเทพเจ้า
การที่พุทธศาสนาถือหลักกฎธรรมชาติ ประกาศอิสรภาพของมนุษย์  และเอาปัญญามาแทนศรัทธา  อันนี้เป็นสิ่งที่แปลกในศาสนา  เราจะเห็นหนังสือฝรั่ง  บางทีบอกว่า  พุทธศาสนาไม่ใช่  religion คือ  ไม่ใช่ศาสนาในความหมายของเขา  เพราะมันไม่มีลักษณะเหมือนกับศาสนาทั้งหลายที่เขาเคยรู้จักมา
เป็นอันว่า  หลักการที่เป็นจุดสำคัญก็มี
๑.  ถือหลักกฎธรรมชาติ
๒. ประกาศอิสรภาพของมนุษย์
. เอาปัญญามาแทนศรัทธา
ศาสนาแห่งธรรมชาติ
และการรู้ธรรมชาติด้วยปัญญา
ทีนี้เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจชัดเจนในเรื่องนี้  อาตมาจะขอเอาเวลาช่วงนี้มาใช้กับการพูดถึงหลักการพื้นฐานบางอย่างที่พึงสังเกตของพุทธศาสนา  ตอนแรกนี้  พูดถึงตัวหลักการที่เป็นพุทธพจน์  คือ คำสอนโดยตรงของพระพุทธเจ้าเสียก่อน  แล้วค่อยมาวิเคราะห์กันอีกทีหนึ่ง แล้วต่อจากนั้นก็จึงจะเอามาโยงกับวิทยาศาสตร์ในตอนหลัง
หลักการพื้นฐานบางอย่างของพุทธศาสนาที่ควรทราบในตอนนี้  ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พูดมาเมื่อกี้ ขอนำมาแสดงดังต่อไปนี้
ข้อที่  ๑  คือ  การถือหลักกฎธรรมชาติ  ได้แก่ถือว่า  ความจริงนั้นเป็นกฎธรรมชาติ  เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน พระพุทธเจ้ามีฐานะเป็นผู้ค้นพบ  อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
เราถือว่า  พระพุทธเจ้า  เป็นผู้ค้นพบความจริง ที่มีอยู่ตามธรรมดาในธรรมชาติ  ดังมีหลักคำสอนที่พระสวดบ่อย ๆ  ในงานอุทิศกุศลแก่ผู้ล่วงลับ  คือ ธรรมนิยามสูตร ๕   โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าพระท่านสวดอะไรกัน  แต่ท่านบอกให้ฟังว่า  กฎความจริงของธรรมชาติมันมีอยู่อย่างนั้นเองเป็นธรรมดา  พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้นก็ตาม  มันก็เป็นของมันอย่างนั้น  พระก็ประกาศหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าตลอดเวลา  ญาติโยมก็ฟังตลอดเวลา  แต่ก็ไม่รู้ตลอดเวลาเหมือนกัน
หลักธรรมนิยาม  หรือกฎธรรมชาติที่ว่านี้เป็นอย่างไร  พระสวดว่า อุปปาทา  วา  ภิกขเว  ตถาคตานํ  อนุปปาทา  วา  ตถาคตานํ”  แปลว่า  พระพุทธเจ้าทั้งหลาย  จะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม  มันก็เป็นหลักยืนตัวอยู่ธรรมดา  เป็นกฎธรรมชาติว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากเหตุปัจจัยล้วนแต่  ไม่คงที่”  “ไม่คงตัว”  และ  ไม่เป็นตัว
ไม่คงที่  คือ  มันเกิดดับ ๆ  เกิดขึ้นแล้วสลายไป ๆ  ตลอดเวลา
ไม่คงตัว  คือ  มันถูกปัจจัยที่ขัดแย้งบีบคั้นให้คงสภาพเดิมอยู่ไม่ได้
ไม่เป็นตัว  คือ  มันไม่เป็นตัวของตัวเอง  แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย  ขึ้นต่อเหตุปัจจัย  มันจะปรากฏรูปร่างอย่างไรก็แล้วแต่ เหตุปัจจัย  นี่ก็คือหลักของความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง  เป็นความจริงพื้นฐานในที่สุด
พระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงนี้แล้ว  จึงนำมาเปิดเผยแสดง  ชี้แจง  ทำให้ง่าย  ให้ชัดเจนขึ้น  ว่าดังนี้  ๆ
ข้อที่หนึ่งนี้เป็นหลักสำคัญมาก  เป็นหลักพื้นฐานของพุทธศาสนา  คือการที่ถือว่า  กฎธรรมชาตินี้  เป็นความจริงพื้นฐาน
เราควรจะรีบผ่านหลักเหล่านี้ไป  เพราะมีเวลาน้อย
ข้อที่ ๒  ก็คือ  นอกจากว่าสิ่งทั้งหลาย  ไม่คงที่  ไม่คงตัว  และ  ไม่เป็นตัวแล้ว  ก็บอกหลักความเป็นเหตุเป็นผล  หรือความเป็นเหตุปัจจัยแบบอิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลาย  ที่เราเรียกว่า  กฎปฏิจจสมุปบาท”  ซึ่งมีสาระสำคัญโดยย่อว่า๖ 
อิมสมึ  สติ  อิทํ  โหติอิมสมึ  อสติ  อิทํ  น  โหติ.
อิมสสุปปาทา  อิทํ  อุปปชชติ; อิมสส  นิโรธา  อิทํ  นิรุชฌติ.
แปลว่า  เมื่ออันนี้มี  อันนี้จึงมีเมื่ออันนี้ไม่มี อันนี้ก็ไม่มี.
เพราะอันนี้เกิด  อันนี้จังเกิด; เพราะอันนี้ดับ  อันนี้ก็ดับ
นี้คือหลักความจริงพื้นฐาน  ซึ่งเป็นกฎทั่วไป  จากนั้นก็ขยายความออกไป  เป็นการประยุกต์ใช้กฏทั่วไปนั้นในเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี  พูดง่าย ๆ นี้ก็คือ  หลักกฎธรรมชาติ คือความเป็นเหตุเป็นผล  ขั้นพื้นฐาน
เป็นที่น่าสังเกตว่า  พุทธศาสนาถือหลักเหตุปัจจัย  เรานิยมพูดว่า  หลักเหตุปัจจัย  ไม่พูดว่า  หลักเหตุผล  เพราะคำว่าเหตุผลนั้น  หมายถึงเหตุกับผล  ซึ่งชี้จำกัดเฉพาะปัจจัยตัวตรงอย่างเดียว  ในพุทธศาสนาท่านถือว่า  สิ่งที่ทำให้ผลเกิดขึ้นไม่ใช่เหตุอย่างเดียว  ต้องมีปัจจัยต่าง ๆ  ด้วย  ปัจจัยพรั่งพร้อมแล้วจึงเกิดผล  อันนี้ก็เป็นหลักการที่สำคัญ
ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง  เช่น  เราปลูกมะม่วง  ต้นมะม่วงงอกงามขึ้นมา  ต้นมะม่วงนั้นก็เป็นผล  แล้วอะไรเป็นเหตุของต้นมะม่วง  ก็ตอบว่าเม็ดมะม่วง  เม็ดมะม่วงก็คือ  พืชของมัน  เม็ดมะม่วงเป็นเหตุของต้นมะม่วง  แต่ถ้ามีเหตุอย่างเดียว  ผลไม่เกิด  มีแต่เม็ดมะม่วง  ต้นมะม่วงเกิดไม่ได้  มันต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง  เช่น  อาศัยดิน  อาศัยน้ำ  อาศัยออกซิเจน  อาศัยอุณหภูมิที่พอเหมาะ  อาศัยปุ๋ย  เป็นต้น  ปัจจัยเหล่านี้พรั่งพร้อมแล้วต้นมะม่วงจึงปรากฏขึ้นมา  นี่คือหลักเหตุปัจจัยในพุทธศาสนา  ปัจจัยพรั่งพร้อมถึงที่ผลก็ปรากฏ  หลักความจริงนี้จะช่วยอธิบายข้อสงสัยอย่างที่บางคนพูดว่า  ฉันทำเหตุ  แล้วทำไมฉันไม่ได้ผล  ก็ต้องย้อนถามว่า  อ้าวดูปัจจัยหรือเปล่า
อนึ่ง  ขอให้สังเกตด้วยว่า  ความเป็นเหตุปัจจัยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามลำดับกาลเวลา  เรามักจะมองว่า   อันนี้เกิดขึ้นมาก่อน  แล้วต่อไปอันนั้นจึงเกิด  ไม่จำเป็นต้องอย่างนั้น  สมมติว่า  มีกระดานดำ  หรือกระดานป้ายอยู่ข้างหลังอาตมา  แล้วเราใช้ชอล์กเขียนบนกระดานนั้น  เขียนเป็นตัวหนังสือ  ก.ไก่  ข.ไข่  ขึ้นมา  ก.ไก่  ข.ไข่  ที่ปรากฏขึ้นมาก็เป็นผล
ในการที่ตัว  ก.ไก่’  ’ข.ไข่’  ปรากฏขึ้นมาบนกระดานให้เราอ่านได้นี่  อะไรเป็นเหตุ  ถ้าในแง่ภาษาเราบอกว่าคน  ถ้าในแง่รูปภาพนี่เป็นขาว ๆ  เราตอบว่า  ชอล์ก  ใช่ไหม  แต่ไม่ว่าจะเอาเหตุไหนก็ตาม  ถ้ามีแค่เหตุนั้นอย่างเดียว  ผลไม่ปรากฏ  คือมันไม่พอที่จะให้ตัว ’  ปรากฏขึ้นมา  การที่ตัวอักษร จะปรากฏขึ้นมา  ต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ  พรั่งพร้อม  ต้องมีทั้งคนเขียน  ต้องมีชอล์ก  ต้องมีกระดานที่รองรับ  มีกระดานก็ยังไม่พอ  ต้องมีสีที่ต่างกันให้ตัดกันได้  ต้องมีอุณหภูมิ ต้องมีความชื้นพอดี  ต้องไม่มีน้ำเหลวอยู่บนนั้น  ที่จะทำให้ชอล์กละลายไปหมด  หรือเขียนไม่ได้  ต้องมีอะไรต่ออะไรพอดี  เหล่านี้คือปัจจัยต่าง ๆ  ที่พรั่งพร้อมซึ่งทำให้ผลเกิดขึ้น
ทีนี้  ก็มาถึงข้อสังเกตที่ว่าข้างต้น  คือ ในการที่ตัว ”  ปรากฏนี่  ปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น  ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องมาก่อนใช่ไหม  ในบรรดาปัจจัยที่ทำให้ตัว ”  ปรากฏนี้  จะเห็นชัดว่าปัจจัยบางอย่างก็มีอยู่พร้อมกัน  เป็นปัจจัยที่อิงอาศัยกันในลักษณะต่าง ๆ  ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นไปตามลำดับกาล นี้คือหลักเหตุปัจจัยในพุทธศาสนา  เป็นการยกตัวอย่างเอามา โดยมุ่งให้มองในแง่ของประเด็นสำคัญคือ  ต้องการให้เห็นว่า  เป็นหลักเหตุปัจจัย
ข้อที่ ๓   คือ  หลักศรัทธา  เมื่อกี้ได้บอกว่า พุทธศาสนาย้ายจากศรัทธามาสู่ปัญญาแล้ว  ยังจะมาพูดเรื่องศรัทธาอะไรกันอีก  ขอทำความเข้าใจว่า  ศรัทธาก็ยังมีบทบาทอยู่  แต่มันเปลี่ยนบทบาทใหม่
ตอนแรกนี้ขอให้ดูก่อนว่าในพุทธศาสนา  หลักศรัทธาโยงไปหาการพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ตรง  คำสอนด้านนี้ที่อ้างกันมากก็คือ  กาลามสูตร  ซึ่งแสดงพุทธโอวาทว่า๗
นี่แน่ะ  กาลามชนทั้งหลาย  ท่านทั้งหลาย
อย่าเชื่อ  เพียงเพราะได้ฟังตามกันมา
อย่าเชื่อ  เพียงเพราะได้เรียนตามกันมา
อย่าเชื่อ  เพียงเพราะได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
อย่าเชื่อ  เพียงเพราะเสียงเล่าลือ
อย่าเชื่อ  เพียงเพราะตรรกะ
อย่าเชื่อ  เพียงเพราะอนุมานเอา
อย่าเชื่อ  เพียงเพราะคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าเชื่อ  เพียงเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน
อย่าเชื่อ  เพียงเพราะมีรูปลักษณะน่าเชื่อ
อย่าเชื่อ  เพียงเพราะเห็นว่า  ท่านสมณะนี้เป็นครูอาจารย์ของเรา
การที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้  ทำให้ฝรั่งทึ่งมาก  ตอนที่ฝรั่งได้ยินเรื่องพุทธศาสนานี่โจษจันกันเรื่อง กาลามสูตร  เป็นคำสอนที่เด่นมาก  เพราะว่าตอนนั้นวิทยาศาสตร์กำลังเฟื่อง  คนก็เลยชอบแนวความคิดแบบที่ว่าจะต้องไม่เชื่ออะไรง่ายๆ  จะต้องเชื่อความจริงที่พิสูจน์ได้  พอมาเจอพระสูตรนี้เข้าฝรั่งเลยประทับใจแล้วก็รู้จักกาลามสูตรมากหน่อย  ปรากฏว่า  ในตอนที่ฝรั่งรู้จักกาลามสูตรในนามของพุทธศาสนานั้น คนไทยไม่รู้จัก  ถามคนไทยแบบไม่มีรู้จักเลย ไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์แน่นอน  แม้แต่ ๐.๐๐๑ %   ก็ไม่รู้จักกาลามสูตร แต่ฝรั่งที่รู้จักพุทธศาสนา  รู้จักกาลามสูตร  คนไทยเป็นชาวพุทธไม่รู้จักกาลามสูตร  อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ชอบกลในวงการพุทธศาสนา
ในกาลามสูตรนั้น  พระพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปอีกว่า  จะต้องรู้เข้าใจด้วยตนเองว่า  สิ่งเหล่านี้เป็นกุศล  หรือเป็นอกุศล  ถ้ารู้ว่าเป็นอกุศล  มีโทษ  ไม่เป็นประโยชน์  ทำให้เกิดทุกข์  พึงละเสีย  ถ้ารู้ว่าเป็นกุศล  เป็นประโยชน์  เป็นไปเพื่อความสุข    ก็ให้ถือปฏิบัติ  นี่ก็คือ  เป็นเรื่องที่ต้องรู้ชัด  ประจักษ์แก่ตนเอง  เป็นประสบการณ์ตรง  นี่คือ  การย้ายจากศรัทธา  ไปสู่ปัญญา
นอกจากนั้นยังมีหลักที่บอกชัด ๆ  ถึงการตรวจสอบด้วยประสบการณ์ตรง  เช่น  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  โดยไม่ต้องอาศัยศรัทธา  ไม่ต้องอาศัยการถูกกับใจชอบ  ไม่ต้องอาศัยการเรียนตามกันมา  ไม่ต้องอาศัยการคิดตรองตามแนวเหตุผล ไม่ต้องอาศัยความเข้าได้กับทฤษฎีของตน  ก็รู้ชัดได้ในใจของตนเองว่า  เรามีโลภะ  หรือไม่มีโลภะ  เรามีโทสะ  หรือไม่มีโทสะ  เรามีโมหะ  หรือไม่มีโมหะ ๘ ในใจของเราขณะนี้  และก็รู้ชัดในขณะนั้น  นี่เป็นหลักที่เรียกว่า  เป็นการตรวจสอบด้วยประสบการณ์ตรง
แห่งการเพียรแก้ปัญหา
ด้วยการพัฒนาปัญญาของมนุษย์
ข้อที่ ๔  คือ  การประกาศอิสรภาพของมนุษย์  พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในท่ามกลางความเชื่อตามหลักศาสนาพราหมณ์  ที่ถือว่า  พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก  เทพเจ้าเป็นผู้บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง  มนุษย์จะต้องบวงสรวงอ้อนวอนด้วยพิธีกรรม  ซึ่งคิดจัดสรรกันต่าง ๆ  ให้เทพเจ้าถูกอกถูกใจ  มีความใหญ่โตพิสดาร  จนกระทั่งถึงกับมีวิธีบูชายัญแบบต่าง ๆ  มากมาย  เพื่อเอาใจเทพเจ้าให้โปรดปรานแล้วจะได้บันดาลผลที่ต้องการให้แก่ตน  คัมภีร์พระเวทของพราหมณ์  กำหนดว่า  คนเกิดมาแยกเป็นวรรณะสี่  เพราะว่าพระพรหมท่านสร้างมาอย่างนั้น  เกิดมาในชั้นวรรณะไหน  ก็ต้องเป็นอย่างนั้นตลอดชาติ  แก้ไขไม่ได้  ทุกอย่างถูกครอบงำกำหนดด้วยการดลบันดาลของเทพเจ้า
เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น  สิ่งแรกที่ถือว่าเกิดขึ้นพร้อมกับการอุบัติของเจ้าชายสิทธัตถะ  คือ  การประกาศอิสรภาพของมนุษย์  ถ้าใครสังเกตจะนึกได้ว่า  เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ  มีเหตุการณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ว่าได้เสด็จย่างพระบาทไป  ๗  ก้าว  ทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า   เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก  เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก  เราคือผู้เป็นใหญ่แห่งโลก ๙ 
พระดำรัสนี้  ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะเข้าใจผิด  ว่าทำไมเจ้าชายสิทธัตถะมาอวดตัวว่ายิ่งใหญ่  แต่พึงทราบว่านี่คือการประกาศอิสรภาพของมนุษย์  เพราะหลักการต่าง ๆ  ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงต่อมา  จะบอกเราว่า  มนุษย์มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองได้สูงสุด  เมื่อมนุษย์พัฒนาตนเองแล้วก็เป็นผู้ประเสริฐสุด  ดังมีพระองค์เป็นตัวอย่างในฐานะที่เป็นตัวแทนของมนุษย์คือการที่ทรงเป็น  พุทธะ”  ซึ่งทุกคนก็เป็น  พุทธะ”  ได้ทั้งนั้น  เมื่อมนุษย์มีศักยภาพอย่างนี้  จะได้ไม่มัวไปอ้อนวอนหวังพึ่งเทพเจ้าหรืออำนาจดลบันดาลจากภายนอก  จะได้กันมาเอาใจใส่พัฒนาตัวเอง  และทำการต่าง ๆ  ด้วยความเพียรพยายามของตน  เมื่อเป็น  พุทธะ”  แล้วแม้แต่เทพเจ้า  แม้แต่พระพรหมก็น้อมนมัสการ
คำสอนแบบนี้ในพุทธศาสนามีมากมาย  ถ้าอ่านพระไตรปิฏก  และรู้จักสังเกตจะเห็นว่า  คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นทำนองนี้  อย่างที่อ้างบ่อย ๆ  ว่า
มนุสสภูตํ สมพุทธํ       อตตทนตํ  สมาหิตํ
เทวาปิ   นมสสนติ๑๐
ซึ่งบอกว่า  พระพุทธเจ้า  แม้ว่าเป็นมนุษย์  แต่เป็นผู้ที่ได้ฝึกฝนพัฒนาตนแล้ว  …………  แม้เทพทั้งหลาย (ไม่ว่าชั้นเทพหรือชั้นพรหม) ก็น้อมนมัสการ
หลักการข้อนี้เป็นการเปลี่ยนท่าทีของมนุษย์เสียใหม่  ท่าทีของจิตใจที่มองไปข้างนอกในแบบที่คอยหวังพึ่งเทพเจ้า  คอยรอการดลบันดาลของอำนาจศักดิ์สิทธิ์  ถูกกระตุกกลับอย่างแรง  แล้วคนก็ถูกปลุกเร้าให้หันมามองดูที่ตัวเองว่า  ภายในตัวของเขาเองนี้มีธรรมชาติแห่งความเป็นสัตว์ที่พัฒนาได้  ถ้าเธอฝึกฝนพัฒนาตน  เธอจะเป็นผู้ประเสริฐ  โดยไม่ต้องไปฝากชะตาชีวิตไว้กับเทพเจ้าเหล่านั้น  แม้แต่เทพเหล่านั้นก็ต้องยอมรับในคุณค่าความประเสริฐของเธอ  แล้วเขาก็จะมาน้อมนมัสการเอง
หลักนี้ก็คือ  การมีความเชื่อหรือศรัทธาพื้นฐานว่า  มนุษย์มีศักยภาพในการพัฒนาตนได้สูงสุด  นี้คือ  หลักที่เรียกว่า  อาสภิวาจา”  หรือ  การประกาศอิสรภาพของมนุษย์ 
ข้อที่ ๕  ต่อไปนี้  คือหลักการแก้ปัญหาด้วยการกระทำของมนุษย์ตามหลักเหตุผล  ไม่หวังการอ้อนวอนจากปัจจัยภายนอก
หลักนี้  จะเห็นได้จากตัวอย่างคำสอนในคาถาธรรมบท  ซึ่งถือเป็นการประกาศหลักการใหญ่ภาคปฏิบัติของพุทธศาสนา  คาถานั้นว่า  พหุ  เว  สรณํ  ยนติ ..
เริ่มต้น  คาถานี้ก็บอกให้ทราบว่า  วิถีชีวิตของมนุษย์ก่อนพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเป็นอย่างไร  ดังข้อความว่า  มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว”  นี่ตรงกับเรื่องการเกิดขึ้นของศาสนาทั้งหลายที่พูดไว้เมื่อกี้นี้เลย  ท่านเล่าไว้แล้วในพุทธพจน์ที่ตรัสว่า
มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว    พากันถึงเจ้าป่าเจ้าเขา  เจ้าภูผา  ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์  เป็นที่พึ่ง  แต่สิ่งเหล่านั้น  ไม่ใช่สรณะอันเกษม  เมื่อยึดเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นสรณะ  ย่อมไม่สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ”     “ แต่ชนเหล่าใดมาถึงพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  เป็นสรณะ  รู้เข้าใจอริยสัจ ๔  เห็นปัญหา  และวิธีปฏิบัติให้ถึงความสิ้นปัญหาจึงจะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ๑๑
นี่คือ  จุดหักเหที่เบนจากการอ้อนวอนหวังพึ่งเทพเจ้า  มาสู่การกระทำของมนุษย์  ถ้าเราไม่รู้หลักนี้  เราอาจจะเผลอนับถือพระรัตนตรัยแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาทั่ว ๆ  ไป  ทั้งหลาย
พระรัตนตรัยเริ่มจากพระพุทธเจ้า  คือ  ตัวอย่างของมนุษย์ที่พัฒนาตนได้สูงสุดและใช้ปัญญาแก้ปัญหาได้เสร็จสิ้น  ซึ่งเป็นการเตือนใจมนุษย์ทุกคนว่า  เรามีศักยภาพนี้อยู่ในตัว  และจึงมีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาตนเอง  การถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะนั้น  คือ  เป็นการเตือนใจตัวเรา  พอระลึกถึงพระรัตนตรัย  นึกถึงพระรัตนตรัย  นึกถึงพระพุทธเจ้าปั๊บก็ต้องเกิดความสำนึกที่จะใช้ปัญญาแก้ปัญหาและพัฒนาตนทันที  นี่คือการเตือนจิตสำนึกในศักยภาพของตัวเราเอง
พอนึกถึงพระธรรม  ก็เตือนใจเราให้ระลึกว่า  อ้อ .  การที่จะพัฒนาตนได้นั้น  ก็ต้องทำให้เป็นไปตามหลักเหตุปัจจัย  เราจะต้องรู้เข้าใจกฎธรรมชาติ  ต้องมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย  ต้องหยั่งถึงและปฏิบัติให้ถูกต้องตามความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย
เสร็จแล้วก็ระลึกถึงพระสงฆ์ว่า  อ้อ …  ชุมชนที่ประเสริฐสังคมมนุษย์ที่ประกอบด้วยมนุษย์ที่พัฒนาตนได้โดยใช้กฎเกณฑ์แห่งปัจจัยนี้  เอาความรู้นี้มาใช้ประโยชน์  พัฒนาตนได้สำเร็จนั้นเป็นจริง  ทำให้มีให้เป็นได้  และเป็นที่ปรากฏของการเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติในทางปฏิบัติ  หรือในเชิงประยุกต์  เราจะต้องเข้าร่วม  เข้าสังกัด  ร่วมสร้างสรรค์ชุมชนประเสริฐนี้
นี่คือ  หลักพระรัตนตรัย  พอเราเชื่อในหลักการนี้  เราก็ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีการของมนุษย์ที่เพียรทำการด้วยปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย  หลักการมันบังคับอยู่ในตัวเอง  วิธีการแก้ปัญหาด้วยปัญญาของมนุษย์  ก็คือ
หนึ่ง        ทุกข์  คือ  เริ่มด้วยปัญหา  ต้องรู้ปัญหาก่อน  เสร็จแล้ว
สอง        สมุทัย        สืบสาวสาเหตุของปัญหา  แล้ว
สาม        นิโรธ  กำหนดจุดหมายที่ดับปัญหา  จากนั้น
สี่             มรรค  ก็ปฏิบัติตามวิธีการให้ถึงความดับปัญหาได้     
นี่คือ  หลักการที่ว่า  เป็นการแก้ปัญหาตามแนวเหตุผล  ด้วยการกระทำของมนุษย์เอง
ข้อที่ ๖  หลักการอีกอย่างหนึ่งที่ยกมาพูดในตอนนี้คือ  การสอนแต่ความรู้หรือความจริงที่เป็นประโยชน์  ความรู้หรือความจริงที่รู้อาจจะมีมากมาย  แต่หลายอย่างอาจจะเป็นความรู้ที่ไม่เป็นประโยชน์  ไม่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาของมนุษย์  พระพุทธเจ้าไม่สอนความรู้เหล่านั้นและก็ไม่รอด้วย  เอาแต่ความจริงที่เป็นประโยชน์เท่านั้นมาสอน  เราจะเห็นหลักการเหล่านี้จากพุทธพจน์เอง  เช่นในข้ออุปมาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เมื่อครั้งที่ประทับอยู่ในป่า  ที่เรียกว่า  สีสปาวัน  ซึ่งบางทีก็เรียกว่าป่าไม้สีเสียด  หรือป่าไม้ประดู่ลาย ๑๒
ณ  ที่นั้น  พระพุทธองค์ประทับอยู่ในพระสงฆ์  ตอนหนึ่งพระองค์ทรงหยิบใบไม้ประดู่ลายขึ้นมากำพระหัตถ์หนึ่ง  แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า  ใบไม้ในกำมือเราที่นี่  กับใบไม้เบื้องบนในป่านี่  ไหนจะมากกว่ากัน  คำถามง่าย ๆ  พระก็ตอบได้ทันที  พระสงฆ์ก็ทูลตอบว่า  ใบไม้ในพระหัตถ์ของพระองค์นิดเดียว  ใบไม้ในป่ามากกว่ามากนัก
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า  นี่ฉันใด  สิ่งที่เราสอนก็ฉันนั้น  ความจริงที่รู้มีมากมาย  แต่ความจริงส่วนใหญ่นั้นรู้แล้วไม่ได้สอน  เหมือนใบไม้ในป่า  ส่วนที่สอนเหมือนใบไม้ในกำมือเท่านั้น  ทำไม  ก็ตรัสแสดงเหตุผลว่า  เพราะความจริงเหล่านั้น  ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง  เพื่อความเข้าใจความจริงถ่องแท้  ไม่เป็นไปเพื่อการแก้ปัญหา  ไม่เป็นไปเพื่อความไร้ทุกข์  ไม่เป็นไปเพื่อจุดหมายของพุทธศาสนา  คือ  นิพพาน  แต่สิ่งที่ทรงสอนก็เพราะว่า  มันเป็นประโยชน์  นำไปสู่การแก้ปัญหาของมนุษย์ได้  เกี่ยวกับชีวิตทีดีงาม  พูดง่าย ๆ  ว่าเป็นไปเพื่อถึงความไร้ทุกข์  อันนี้ก็เป็นหลักการอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา
อุปมาอีกคราวหนึ่งที่สำคัญ  คือ  ครั้งหนึ่งมีผู้มาถามปัญหาอภิปรัชญากับพระพุทธเจ้า  ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่วิทยาศาสตร์ที่กำลังพยายามตอบในปัจจุบันว่า  จักรภพมีจุดตั้งต้นหรือไม่  มีจะสิ้นสุดหรือไม่  หรือมีอยู่ตลอดไป  อะไรทำนองนี้  มี ๑๐ อย่าง  คำถามประเภทนี้มีมาตั้งนานแล้ว  ก่อนพุทธกาล  คนพวกที่สนใจอย่างนั้น  เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาถามอีก  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  เราไม่ตอบทำไมจึงไม่ตอบ  พระองค์ได้ทรงแสดงเหตุผลด้วยข้ออุปมาว่า  ๑๓   
บุรุษผู้หนึ่งถูกคนเขาเอาลูกศรอาบยาพิษมายิง  ลูกศรอาบยาพิษก็เสียบตัวอยู่  พวกญาติมิตรก็ไปตามหมอมาผ่าตัด  หมดผ่าตัดก็จะผ่าตัดเอาลูกศรอาบยาพิษออก  บุรุษผู้นี้ก็บอกว่า  อย่าเพิ่ง  อย่างเพิ่ง  เดี๋ยวก่อน  ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้ท่านผ่าตัดเอาลูกศรออกจนกว่าข้าพเจ้าจะรู้ว่าใครเป็นคนยิงข้าพเจ้า  คนที่ยิงข้าพเจ้านั้นชื่ออะไร  อยู่ที่ตำบลไหน  หมู่บ้านไหน  เป็นคนวรรณะใด  ใช้ลูกศรชนิดใดยิง  เป็นเกาฑัณฑ์หรือว่าเป็นธนู  และทำด้วยวัสดุอะไร  คันธนูทำด้วยไม้อะไร  สายทำด้วยวัสดุอะไร  ขนนกที่ผูกปลายทำด้วยขนนกอะไร  ถ้ายังไม่รู้ความจริงเหล่านี้ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้ถอนลูกศรออก
จะเห็นได้ชัด  ถ้ารออย่างนี้  บุรุษนั้นก็จะต้องตายเสียก่อนเป็นแน่  ทั้งไม่มีทางได้รู้ด้วยและตัวเองก็ต้องตายด้วย  เพราะฉะนั้น  สิ่งที่จะต้องทำคืออะไร  สิ่งที่ต้องทำเรื่องแรกก่อนสิ่งอื่น  คือถอนลูกศรออก  แล้วเรื่องที่จะให้รู้ว่าใครหรืออะไรต่าง ๆ  ก็ว่ากันอีกที  อันนี้ฉันใด  สิ่งที่เราสอนก็คือปัญหาของมนุษย์และการแก้ปัญหานี้แหละ  ส่วนปัญหาที่ท่านถามมานั้นไม่เป็นประโยชน์  ถึงตอบไปท่านก็พิสูจน์ไม่ได้และจะรอพิสูจน์ก็ไม่ได้  เรื่องที่จำเป็นต้องรีบทำมีอยู่  จะมัวเสียเวลาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  และมัวเถียงกันอยู่ไม่ได้  เพราะฉะนั้น  จึงไม่ตอบ  นี้คือหลักที่เรียกว่าการสอนความจริงที่เป็นประโยชน์
ที่กล่าวมานี้เป็นการยกตัวอย่างบางข้อมาแสดงให้เข้าใจลักษณะทั่วไปของพุทธศาสนา  ฟังแล้วก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเหมือนวิทยาศาสตร์หรือไม่เหมือน  เพราะบางข้ออาจจะเหมือน  แต่ในความหมายเหมือนนั้นอาจจะมีความไม่เหมือนอยู่ด้วย
แยกแล้วทิ้ง กับแยกไปเอาความจริง
ได้กล่าวแล้วว่าศาสนาทั้งหลายทั่วไปตั้งแต่โบราณ  มองความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายว่ามีเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เบื้องหลังคอยดลบันดาล  ถ้ามนุษย์หวาดกลัวอันตรายไม่ต้องการให้เหตุการณ์อย่างใดเกิดขึ้น  หรือปรารถนาผลดีต้องการให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างไร  ก็ต้องทำการแสดงออกให้เทพเจ้าเห็นถึงการที่ตนอ้อนวอนหรือเอาอกเอาใจ  แล้วมนุษย์ก็ได้คิดประดิษฐ์วิธีการอ้อนวอนเอาอกเอาใจเทพเจ้าขึ้นมามากมาย  เป็นการบวงสรวงสังเวย  ตลอดจนการบูชายัญต่าง ๆ  เพื่อให้เทพเจ้าคลายพิโรธหรือโปรดปราน
ไม่เฉพาะเหตุการณ์และปรากฏการณ์ในโลกหรือธรรมชาติภายนอกเท่านั้น  แม้แต่ชีวิตของมนุษย์เอง  ก็อยู่ภายใต้อำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า  โดยเทพเจ้าเป็นผู้สร้างโลกสร้างชีวิตและบันดาลสุขทุกข์โชคเคราะห์และความเป็นไปทุกอย่าง  อีกทั้งยังคอยตามดูตลอดเวลาด้วยว่า  มนุษย์ประพฤติปฏิบัติหรือทำการใด ๆ  ให้เป็นที่พอพระทัยหรือไม่  ดังนั้น  มนุษย์จึงต้องคอยระวังตัวที่จะปฏิบัติตนให้ไม่เป็นที่ขัดเคืองพระทัย  โดยเฉพาะในทางตรงข้ามจะต้องพยายามปฏิบัติให้ถูกพระทัยอยู่เสมอ  เพื่อจะได้สามารถหลีกเลี่ยงผลร้าย  และได้ประสบผลดีแก่ชีวิตของตน  ตามหลักการลงโทษและการประทานรางวัล
ตามมาตรฐานนี้  การประพฤติปฏิบัติและการกระทำทั้งปวงของมนุษย์ก็แบ่งออกไปเป็น  ๒  ประเภท คือ  การกระทำที่ถูกใจเทพเจ้า  ซึ่งจะได้รับการโปรดปรานประทานรางวัลเรียกว่า  ความดีและการกระทำที่ขัดเคืองพระทัยของเทพเจ้า  เป็นการทำผิดต่อเทพเจ้า  ซึ่งจะได้รับผลร้ายคือการลงโทษ  เรียกว่า  ความชั่ว  บางทีก็เป็นคำสั่งของเทพเจ้าหรือเป็นเทวบัญชาทีเดียว  คือสิ่งใดที่เทพเจ้าห้ามไม่ให้ทำ  ก็เป็นความชั่ว  แล้วเจ้าหน้าที่หรือองค์กรทางศาสนาก็เป็นผู้บอกให้ทราบว่า  การกระทำอะไรบ้าง  เป็นความดี  การกระทำอะไรบ้าง  เป็นความชั่ว  ตามความหมายและมาตรฐานที่วัดด้วยความพอพระทัยหรือเทวบัญชา  ความหมายและมาตรฐานที่วัดด้วยความพอพระทัยหรือเทวบัญชาของเทพเจ้านั้น  หลักความดีความชั่วอย่างนี้แหละที่เรียกว่า  ศีลธรรม หรือบางทีเรียกว่า  จริยธรรม 
นี่เป็นเรื่องสำคัญด้านหนึ่งองศาสนา  คือเรื่องศีลธรรม  ที่ภาษาไทยสมัยใหม่บัญญัติคำศัพท์ขึ้นมาใช้ใหม่อีกคำหนึ่งว่า  จริยธรรม  เพื่อเรียกตามคำภาษาอังกฤษว่า  ethic  ศีลธรรมหรือจริยธรรมนี้  เป็นเรื่องสำคัญมาก  ถือว่าเป็นเนื้อเป็นตัวของศาสนาทีเดียว  เรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมได้เจริญขึ้นในประเทศตะวันตกตามความหมายอย่างที่ว่ามานี้
ทางฝ่ายวิทยาศาสตร์นั้น  ตั้งแต่แยกกับศาสนา  ก็สนใจเฉพาะธรรมชาติภายนอกแห่งโลกวัตถุ  ไม่สนใจเรื่องนามธรรมในตัวมนุษย์อยู่แล้ว  จึงไม่เอาใจใส่ที่จะศึกษาเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมนี้  ยิ่งเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้า  ไม่มีเหตุผล  ก็แทบจะหันหลังให้เลย 
ฝ่ายประชาชนทั่วไปในประเทศตะวันตก  หรือในประเทศที่เรียกกันว่าพัฒนา  ในยุคที่ผ่านมาได้พากันตื่นเต้นกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์  เกิดความตื่นวิทยาศาสตร์  ก็หันกันไปว่าศาสนาสอนเรื่องเทพเจ้าและอำนาจศักดิ์สิทธิ์  ไม่มีเหตุผล  แล้วก็พากันหันหลังละทิ้งศาสนาออกมา  พร้อมกันนี้ศีลธรรมและจริยธรรมก็พลอยหมดความหมายไปด้วย  ผู้คนพากันไม่เห็นความสำคัญเมื่อเทพเจ้าหมดความหมายไปด้วย  คนสมัยใหม่มากมาย  รวมทั้งคนในวงการวิทยาศาสตร์ด้วย  พากันมองว่าศีลธรรมหรือจริยธรรมที่เป็นคำบัญชาของเทพเจ้าก็หมดความหมายไปด้วย  คนสมัยใหม่มากมาย  รวมทั้งคนในวงการวิทยาศาสตร์ด้วย  พากันมองว่าศีลธรรมหรือจริยธรรมนี้  เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์บางคนบางกลุ่มเช่นพวกนักบวช  กำหนดขึ้นมาเอง  อย่างดีก็เป็นเรื่องของสังคมที่กลุ่มชนนั้นบัญญัติวางกันขึ้นมาเอง  อย่างดีก็เป็นเรื่องของสังคมที่กลุ่มชนนั้นบัญญัติวางกันขึ้นมา  เพื่อควบคุมรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในชุมชนหรือสังคมของตน  ไม่มีความจริงอยู่ในตัวของมันเอง
ฝ่ายวิทยาการต่าง ๆ  ที่ศึกษาความเป็นไปของมนุษย์  และสังคมมนุษย์  โดยเฉพาะทีเรียกกันว่า  สังคมศาสตร์ต่าง ๆ  ตลอดจนมนุษย์ศาสตร์บางสาขา  เมื่อวิทยาศาสตร์เฟื่องฟูก็อยากจะให้ศาสตร์ของตนมีลักษณะและมีฐานะอย่างวิทยาศาสตร์ด้วย  แล้วก็พยายามเอามาตรฐานความจริง  ตลอดจนวิธีศึกษาตามแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในศาสตร์ของตน  ตลอดจนวิธีศึกษาตามแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ศาสตร์ของตน  เห็นว่าศีลธรรมหรือจริยธรรม  เป็นเรื่องของคุณค่าซึ่งเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์  ก็พากันพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องคุณค่า  หลีกเลี่ยงเรื่องศีลธรรม  หรือจริยธรรมพยายามแสดงตัวว่าเป็นศาสตร์ที่ปราศจากคุณค่า  ถ้าจะศึกษาเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมบ้างก็มองเอาเฉพาะในแง่ที่เป็นพฤติกรรมทางสังคมหรือเป็นการแสดงออกทางรูปธรรมที่สังเกตได้ตามวิธีวิทยาศาสตร์เท่านั้น
ถ้าพูดด้วยภาษาทางวิชาการก็สรุปได้ว่า  วิทยาศาสตร์  สังคมศาสตร์  และคนสมัยใหม่เหล่านั้น  มองเห็นเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมเป็นบัญญัติธรรมไปเสีย  เอาศีลธรรมหรือจริยธรรมไปสับสนปนเปกับบัญญัติธรรม  ไม่สามารถแยกออกจากบัญญัติธรรมได้  นับว่าเป็นก้าวที่ผิดพลาดอย่างมากในการแสวงหาความรู้เพื่อเข้าถึงความจริง  พูดเป็นสำนวนว่า  จะหลบเลี่ยงความเท็จ  แต่กลายเป็นหลีกหนีความจริง
หันมามองดูทางด้านพระพุทธศาสนาบ้าง  ในเรื่องนี้  ทั้งวิทยาศาสตร์และพระพุทธศาสนาต่างก็แยกตัวออกจากศาสนาทั่วไป  คือ  ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อถือหรือหลักการแบบที่ว่ามานั้น  แต่ในขณะที่วิทยาศาสตร์แยกตัวออกมาแล้ว  ก็ละทิ้งมองข้ามเรื่องศีลธรรม จริยธรรม  หรือเรื่องคุณค่าต่าง ๆ  ไปเลยนั้น  พุทธศาสนากลับศึกษาและแสดงความจริงของเรื่องศีลธรรม  จริยธรรม  หรือเรื่องคุณค่าต่าง ๆ นั้น  รวมอยู่ในกระบวนการของธรรมชาติด้วย
ในขณะที่ศาสนาทั่วไปมองความเป็นไปทุกอย่างในธรรมชาติทั้งภายนอกและตัวมนุษย์เอง  หรือโลกและชีวิต  ว่าเป็นไปตามอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า  พุทธศาสนามองความเป็นไปทุกอย่างนั้นว่าเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย  เรื่องของมนุษย์  คือ  ธรรมชาติด้านนามธรรม  หรือเรื่องคุณค่าทั้งปวง  ก็เช่นเดียวกับภายนอกแห่งโลกวัตถุ  ที่เป็นเรื่องของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยอยู่ภายในครอบคลุมของกฎธรรมชาติ  ความแตกต่างอยู่ที่องค์ประกอบและปัจจัยในกระบวนการนั้นที่มีคุณสมบัติต่าง ๆ  กัน
เพื่อความสะดวกในการศึกษาและทำความเข้าใจ  บางครั้งพุทธศาสนาจำแนกกฎธรรมชาติออกเป็น ๕ อย่าง  เรียกว่า  นิยาม( ความเป็นไปอันแน่นอน, กฎ)  ๕  คือ ๑๔      
๑  อุตุนิยาม  (physical  laws) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับปรากฏการณ์ในธรรมชาติแวดล้อม  หรือโลกแห่งวัตถุ  เช่น  ลมฟ้าอากาศ  ฤดูกาล
๒ พีชนิยาม  (biological  laws) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพืชพันธุ์  โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าพันธุกรรม 
๓ จิตตนิยาม  (psychic laws) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต  กระบวนการของความคิด
๔.  กรรมนิยาม (karmic  laws;  moral laws)  กฎแห่งกรรมหรือกฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์  ได้แก่  กระบวนการแห่งเจตน์จำนงหรือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ต่าง ๆ
๕.  ธรรมนิยาม ( the general laws of  cause  and effect)  กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันของสิ่งทั้งหลาย  อย่างที่เรียกว่า  ความเป็นไปตามธรรมดา  กฎทั่วไปแห่งเหตุและผล
ถ้าดูตามการจำแนกกฎธรรมชาติแบบนี้  จะเห็นว่า  วิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมา  เชื่อมั่นในธรรมนิยาม  โดยจำกัดตัวศึกษาอยู่เฉพาะในขอบเขตของอุตุนิยามกับพีชนิยามเท่านั้น  ส่วนในทางพระพุทธศาสนา  เชิงปฏิบัติ  ให้ความสำคัญแก่กรรมนิยามมากแม้ว่าด้านหนึ่งที่เรียกว่าอภิธรรมจะเน้นการศึกษาในเรื่องจิตนิยาม  เพื่อเอามาโยงกับกรรมนิยาม  และธรรมนิยาม
การเข้าใจความจริงของธรรมชาติ  ที่จะเข้าถึงสัจจะภาวะอย่างสมบูรณ์แท้จริง  ย่อมเป็นไปไม่ได้  ถ้าไม่รู้เข้าใจกฎธรรมชาติทั้งหลายอย่างครอบคลุม  จนมองเห็นความโยงสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวโดยเฉพาะถ้าไม่เข้าใจตัวมนุษย์อันเป็นธรรมชาติด้านนามธรรมรวมทั้งเรื่องคุณค่าต่าง ๆ  ในฐานะที่มนุษย์เป็นผู้ศึกษากฎธรรมชาติเหล่านั้น  นักวิทยาศาสตร์ศึกษาอุตุนิยาม  แต่ถ้านักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ความจริงของตัวมนุษย์คือตนเองผู้ศึกษาอุตุนิยามนั้น  นักวิทยาศาสตร์ก็จะเข้าถึงความจริงแม้แต่ของอุตุนิยามนั้นอย่างสมบูรณ็ไม่ได้    
ในขั้นพื้นฐาน  มนุษย์อยู่ในโลกแห่งธรรมชาติแวดล้อมที่เป็นวัตถุ  แต่ซ้อนกับโลกธรรมชาติภายนอกนั้นก็มีโลกของมนุษย์อีกชั้นหนึ่ง  ว่าโดยจิตสำนึก  มนุษย์อยู่ในโลกของมนุษย์  และโลกมนุษย์มีความหมายสำคัญ  มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เด่นชัดยิ่งกว่าโลกแห่งธรรมชาติแวดล้อม  การดำเนินชีวิตส่วนตัวความคิดนึก  พฤติกรรม  กิจกรรมต่าง ๆ  การสื่อสารสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน  สิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์  วัฒนธรรม  ตลอดจนสถาบันสังคมทั้งหลาย  ล้วนเกิดขึ้นจากเจตน์จำนงของมนุษย์  ที่พุทธศาสนาเรียกสั้น ๆ  ว่า  กรรม  เจตน์จำนงเป็นสมบัติพิเศษและเป็นอำนาจของมนุษย์  ที่ทำให้มนุษย์มีความเป็นไปดังที่ปรากฏอยู่นี้  โลกของมนุษย์จึงเป็นโลกของเจตน์จำนง  เป็นไปตามเจตน์จำนงหรือเจตน์จำนงสร้างสรรค์บันดาลให้เป็นไป  ซึ่งเรียกสั้น ๆ  ว่าโลกแห่งกรรม  ดังพุทธพจน์ที่ตรัสว่า  กมมุนา  วตตตี  โลโก”  ๑๕   (โลกเป็นไปตามกรรม  คือเจตน์จำนงที่ปรุงแต่งสร้างสรรค์)  การที่จะเข้าใจโลกของมนุษย์  หรือเข้าใจเรื่องของมนุษย์  จึงจะต้องเข้าใจกฎธรรมชาติที่เรียกว่า  กรรมนิยาม
เรื่องเจตน์จำนง  เรื่องกรรม  เรื่องพฤติกรรม  เรื่องจริยธรรม  เรื่องนามธรรม  เรื่องคุณค่า  เรื่องธรรมชาติภายใน  เรื่องจิตใจของมนุษย์  ล้วนเป็นเรื่องของธรรมชาติ  มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัยขึ้นต่อกฎธรรมชาติ  มิใช่เป็นเรื่องของเทพเจ้า  หรือเป็นเรื่องที่เลื่อนลอยแต่อย่างใด  เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ด้วยปัญญาของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาให้รู้เข้าใจได้
พึงสังเกตว่า  พุทธศาสนาจัดจิตตนิยมกับกรรมนิยามเป็นคนละกฎต่างหากกัน  แสดงว่าเรื่องจิตกับเรื่องเจตน์จำนงของมนุษย์เป็นกฎธรรมชาติคนละด้านที่ศึกษาแยกกันได้  แม้ว่ากฎทั้งสองนั้นจะทำงานสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดยิ่ง  อุปมาง่าย ๆ  เหมือนกัปตันที่ขับเรือยนต์  จิตเป็นเหมือนเรือพร้อมกัปตันที่จะชักนำพาเรือไปทำอะไร ๆ  ที่ไหน ๆ  และอย่างไร
ปรากฎการณ์อย่างเดียวกันอาจจะเกิดจากเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติคนละอย่าง  และปรากฏการณ์บางอย่างเกิดจากเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติหลายอย่างทำงานอิงอาศัยกัน  บุคคลหนึ่งน้ำตาไหล  อาจเกิดจากถูกควันไฟรม (อุตุนิยาม)  อาจเกิดจากความดีใจหรือเสียใจมาก (จิตตนิยาม)  หรืออาจจะเป็นเพราะปรุงแต่งความคิดในทางหวนละห้อยบีบคั้นใจตนเอง (กรรมนิยาม)  บุคคลหนึ่งปวดศีรษะมาก  อาจเกิดจากเนื้องอกในสมอง (พีชนิยาม)  อาจเนื่องจากอยู่ในที่อากาศไม่พอ  หรือร้อนเกินไป (อุตุนิยาม)  หรืออาจเป็นเพราะกลุ้มใจกังวล (กรรมนิยาม)  ฯลฯ
เมื่อชาวตะวันตกมาศึกษาเรื่องกรรม  หรือเรื่องของเจตน์จำนง  ก็มักจะต้องมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง  free will  (เจตน์จำนงเสรี)  ว่า free will  นั้น  มีหรือไม่  ถ้ามองตามกฎธรรมชาติน่าจะต้องพูดว่าความคิดเรื่อง free will  นั้น  เป็นความคิดสุดโต่ง  หรือเอียงสุด  ที่จริงไม่มี will  ที่  absolutely  free  เพราะเจตน์จำนงก็อยู่ในกระบวนการของเหตุปัจจัย  แต่ will  นั้นก็นับว่า  free  เหมือนกัน  อาจใช้คำว่า  relatively  free  เพราะมันก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั้น  ดังที่มีศัพท์ทางพุทธศาสนาเรียกว่า  ปุริสการ  ซึ่งแต่ละบุคคลมีอำนาจคิดริเริ่ม  หรือคิดเริ่มการ  ให้เป็นตัวกระตุ้นในกระบวนความเป็นไปตามเหตุปัจจัย  ที่เรียกว่า  กรรมนิยามนั้น  ซึ่งทำให้เราถือว่าเขาจะต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตน 
ความเข้าใจผิด  หรือความไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง free will  และเรื่องทำนองนี้  เกิดจากความเข้าใจผิดที่เนื่องกันซึ่งซ้อนลึกลงไปอีก  โดยเฉพาะความหลงผิดเกี่ยวกับอัตตา  หรือเรื่องตัวตน  ทำให้เกิดความสับสน  โดยในขณะที่กำลังพิจารณาความจริงแท้ตามสภาวะ (ปรมัตถ์)  แต่ติดในความคิดเชิงบัญญัติ (สมมติ)  เอาไปปนกัน  ให้มีผู้ทำกับผู้รับผลการกระทำ  หรือในขณะที่ความจริงมีแต่ความรู้สึก  แต่ผู้พิจารณาเรื่องนี้เอาความคิดเกี่ยวกับผู้รู้สึกเข้าไปใส่  (สำนวนทางธรรมว่า  มีแต่การเสวยเวทนา  ผู้เสวยไม่มี)  ทั้งนี้เป็นเพราะหยั่งไม่ถึงลักษณะที่เป็นอนัตตา  จึงไม่สามารถมองเห็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยชัดเจนได้
ข้อพิเศษในเรื่องนี้ก็คือ  พระพุทธศาสนาไม่ได้หยุดอยู่แค่ free will  แต่ยังก้าวไปสู่ขั้นที่จะเป็นผู้ free of  will  คือ  เสรีเหนือเจตน์จำนงด้วย  ซึ่งสำเร็จด้วยการพัฒนาตนของมนุษย์ให้ถึงขั้นชีวิตแห่งปัญญา
พึงสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่าในกระบวนการพัฒนามนุษย์นั้น  พุทธศาสนาแยกแดนแห่งจิต  กับแดนแห่งปัญญาออกจากกัน  โดยที่ปัญญาที่พัฒนาแล้วจะเป็นตัวปลดปล่อยจิต  ให้บรรลุอิสรภาพ  เราจึงมีจิตกับเจตน์  และจิตกับปัญญา  แต่นี่เป็นเรื่องของกระบวนการพัฒนามนุษย์  ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรพูดต่างหากในที่อื่น  เดี๋ยวจะออกนอกขอบเขตไป  ควรยุติเท่านี้
ความประสงค์ในที่นี้  มุ่งเพียงให้มองเห็นขอบเขตของการรู้เข้าใจธรรมชาติที่จะเข้าถึงความจริงทีแท้  หรือสัจจธรรมโดยสมบูรณ์  ว่าจะต้องรู้เข้าใจเรื่องตัวมนุษย์อันเป็นธรรมชาติภายใจด้านนามธรรม  รวมทั้งเรื่องคุณค่าต่าง ๆ  ให้ถึงกฎธรรมชาติของเรื่องนี้ด้วย
พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ความต่างในความเหมือน
ศรัทธา : จุดร่วมของพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ที่เป็นจุดแยกจากศาสนาอื่นๆ
ทีนี้ก็มาลองวิเคราะห์ดูในบางเรื่องบางอย่างตามหลักการพื้นฐาน  เพื่อเป็นข้อสังเกตเชิงเปรียบเทียบระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์และศาสนาต่าง ๆ  เริ่มตั้งแต่เรื่องศรัทธาเป็นต้นไป  เพราะเมื่อกี้นี้บอกว่าในพุทธศาสนานั้นได้ย้ายจากศรัทธามาสู่ปัญญาแล้ว
ศาสนาต่าง ๆ  นั้นเอาอารมณ์เป็นตัวนำเข้าสู่จุดหมาย (หมายถึงอารมณ์ที่ใช้กันในความหมายของภาษาไทย  ที่ตรงกับคำว่า  emotion  ไม่ใช่อารมณ์ในภาษาทางธรรมของเดิม)  เน้นเรื่องอารมณ์  ใช้อารมณ์เป็นเครื่องผลักดันให้ยอมรับและปฏิบัติตามหลักการของศาสนา  จึงต้องคอยปลุกเร้าอารมณ์ให้เกิดศรัทธา  จึงจะต้องเอาใจใส่ถือเป็นสำคัญยิ่งที่จะเร้าให้เกิดอารมณ์  หรือ  emotion  นี้  แต่พุทธศาสนาไม่เอาอารมณ์  หรือ  emotion  เป็นหลัก  เพราะมุ่งที่ตัวปัญญา
เมื่อเอาอารมณ์  คือ  emotion  เป็นตัวนำ  ศาสนาต่าง ๆ  ก็ย่อมเน้นศรัทธา  เพราะศรัทธาเป็นจุดรวมของ emotion  หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า  เพราะขึ้นต่อศรัทธาหรือเอาศรัทธาเป็นแกน  ศาสนาต่าง ๆ  จึงต้องเน้นการปลุกเร้าอารมณ์คือ emotion  นี้  รวมความว่า  ศรัทธาเป็นหลักการสำคัญสุดยอดของศาสนาทั่ว ๆ  ไป  แต่พุทธศาสนาเน้นปัญญา  ให้ความสำคัญแก่ศรัทธาเพียงขั้นต้น  และใช้ศรัทธาด้วยความระมัดระวัง  และถือว่าปัญญาเป็นตัวตัดสินในการที่จะเข้าถึงจุดหมายคือการแก้ปัญหาของมนุษย์ได้
อย่างไรก็ตาม  ศรัทธาก็ยังมีบทบาทสำคัญอยู่ในพุทธศาสนาบ้างเหมือนกัน  หมายความว่า  ในระบบการปฏิบัติและคำสอนของพุทธศาสนาก็ยังมีศรัทธาอยู่  แต่ศรัทธานั้นได้เปลี่ยนบทบาทไป  เปลี่ยนความสำคัญไป  เช่นเดียวกับที่ว่าในวิทยาศาสตร์ก็ยังต้องมีศรัทธาดังที่กล่าวเบื้องต้นแล้ว  นักวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยศรัทธาในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์  ศรัทธามีบทบาทสำคัญในวิทยาศาสตร์และเป็นตัวนำผลักดันให้วิทยาศาสตร์ก้าวไปในการค้นคิด  สืบสาวหาความจริงทางวิทยาศาสตร์ต่อไปอีก
การที่จะเข้าใจในเรื่องศรัทธาได้ชัดเจน  จะต้องแบ่งศรัทธาออกไปให้เห็นความแตกต่าง  และถ้าแบ่งคร่าว ๆ  ศรัทธาหรือความเชื่อนี้จะมี  ๒  ประเภท  ศรัทธา  ๒  ประเภทคืออะไร  ตอนนี้แบ่งอย่างง่ายที่สุด
ศรัทธาประเภทที่ ๑  เป็น ศรัทธาแบบปิดกั้นปัญญา  ใช้วิธีปลุกเร้าหรือแม้แต่บังคับให้เชื่อ  และพอเชื่อแล้วก็ต้องมอบความไว้วางใจให้สิ้นเชิง  ห้ามถาม  ห้ามสงสัย  คอยรอทำตามฉันอย่างเดียว  ศรัทธาประเภทที่ ๑  นี้ไม่ทำให้มีการสืบค้นทางปัญญาต่อไป
 ศรัทธาในศาสนาต่าง ๆ  จะเน้นแบบนี้  คือต้องเชื่อและเมื่อเชื่อแล้วก็ต้องคอยรอทำตาม  ฉันว่าอย่างไรก็ต้องอย่างนั้น  ห้ามถาม  ห้ามสงสัย  หลักการในศาสนาแบบนี้เขาจึงเรียกว่าเป็น  dogma  คือ  สิ่งที่ต้องถือปฏิบัติตาม  ยึดมั่นโดยไม่ต้องถามหาเหตุผล  ต่างจากพุทธศาสนาที่เขาเรียกว่า  เป็นศาสนาที่ไม่มี  dogma
ศรัทธาประเภทที่ ๒  คือ ศรัทธาแบบสื่อนำสู่ปัญญา  ศรัทธาสื่อนำสู่ปัญญาเป็นอย่างไร  คือความเชื่อนั้นเป็นตัวชักนำให้สนใจ  เริ่มต้นศึกษาสืบค้น  สิ่งทั้งหลายในโลกนี้มีมากมาย  เรายังไม่มีจุดเริ่มต้นว่าจะสนใจเรื่องใด  แต่เมื่อเกิดศรัทธาต่อบุคคลหรือเรื่องราวหลักการใด  ศรัทธานั้นก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เรามีจุดเริ่มต้น  ศรัทธาทำให้เรามีความสนใจและเข้าไปหา  โดยเฉพาะศรัทธาในคนก็เพื่อจะชักนำให้เข้าไปซักถามเขา  การที่ศรัทธาในพระก็เพื่อจะเข้าไปหาและซักถามท่าน  เพื่อให้เกิดความรู้  และเข้าใจความจริงยิ่งขึ้นไป  ถ้าเป็นศรัทธาแบบว่าเพื่อจะไปให้ท่านทำอะไรให้สักอย่างและจบเท่านั้น  ก็ไม่ใช่ศรัทธาที่นำไปสู่ปัญญา
ศรัทธาแบบสื่อนำสู่ปัญญานี้จะเห็นตัวอย่างในกรณีของพระสารีบุตร  ก่อนที่จะหันมาสู่พระพุทธศาสนาได้เห็นพระอัสสชิเดินผ่านมา  เกิดความเลื่อมใสว่าลักษณะท่าทางของท่านแสดงว่าคงมีอะไรดี  คงมีภูมิธรรมปัญญาสูง  เกิดความอยากจะรู้อยากจะถาม  จึงเข้าไปหา  อันนั้นเป็นตัวอย่างของศรัทธาแบบนี้
จะเห็นว่า  ศรัทธาหรือปสาทะเป็นตัวที่ทำให้ต้องการเข้าไปหาเพื่อจะได้ถามหาความรู้ต่อไป  คือเป็นแรงชักนำทำให้สนใจเข้าไปหาและเริ่มต้นสืบสาวหาความรู้ในเรื่องนั้น  พร้อมทั้งมีจุดที่จะคิดค้นอย่างจริงจัง  เพราะว่าเมื่อเราศรัทธาในเรื่องใดเราก็จะคิดค้นในเรื่องนั้นอย่างจริงจัง  เรื่องนั้นจะเป็นประเด็นหลักของเราในการคิดค้นต่อไป  เช่น  นักวิทยาศาสตร์เชื่อเรื่องอะไรว่าน่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  แกก็จะคิดค้นยกใหญ่มุ่งแล่นไปในเรื่องนั้นเต็มที่  ทำให้ไม่ส่ายไม่พร่าในกระบวนการหาความจริง
เป็นอันว่าเราจะต้องแยกศรัทธาให้ถูก  ศรัทธาในพุทธศาสนา  ที่เรายอมให้มีบทบาทก็คือ  ศรัทธาที่เป็นสื่อนำสู่ปัญญา  ก็เลยกลายเป็นว่าในพุทธศาสนาศรัทธาเปลี่ยนบทบาทมาเป็นตัวรอง  โดยมีหน้าที่เป็นตัวนำสู่ปัญญา  และปัญญากลายเป็นตัวเด่นขึ้นมา  จะเห็นว่าทั้งในพุทธศาสนาและในวิทยาศาสตร์ต่างก็มีศรัทธาในประเภทที่สอง  คือศรัทธาแบบสื่อนำสู่ปัญญา  และเมื่อสรุปแล้ว  ศรัทธาแบบสื่อนำสู่ปัญญานี้  มีบทบาทสำคัญทีส่งผลต่อปัญญา  ๓  ประการ  คือ
๑.  ทำให้สนใจเข้าไปหาและเริ่มต้นศึกษาสืบค้นในเรื่องนั้น
. ทำให้มีพลัง  เกิดความเพียรพยายาม  ตลอดจนทุ่มเทอุทิศตัวในการที่จะหาและเข้าถึง ความจริงในเรื่องนั้น
ทำให้มีทิศทางหรือตัวประเด็นเจาะตรงเฉพาะที่จะมุ่งแล่นเดินหน้าไป  อย่างแน่วแน่ชัดเจน
นอกจากบทบาทและหน้าที่ของมันแล้ว  ศรัทธาที่ถูกต้องยังมีลักษณะที่เราจะต้องเข้าใจต่อไปอีก ในพุทธศาสนานั้น ถ้าเราพิจารณาดูระบบหรือกระบวนการปฏิบัติก็จะเห็นลักษณะของศรัทธานี้ชัดเจน  ลักษณะของศรัทธาในพุทธศาสนาดูได้จากหลักการสำคัญ ๆ  ดังนี้
จุดหมายของพุทธศาสนาคืออะไร  จุดหมายของพุทธศาสนาคือวิมุตติ  ความหลุดพ้น  หรืออย่างที่เรียกปัจจุบันว่าอิสรภาพ  พุทธศาสนาต้องการให้มนุษย์ไปสู่อิสรภาพ  หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์
ความหลุดพ้นนี้สำเร็จได้ด้วยอะไร  ความหลุดพ้นเป็นอิสระนี้สำเร็จได้ด้วยปัญญา  คือรู้เข้าใจความจริง  รู้เท่าทันกฎธรรมชาติ  ซึ่งสาวกก็รู้ได้เหมือนอย่างองค์พระศาสดา  และไม่ต้องขึ้นต่อองค์พระศาสดา
พระพุทธเจ้าเคยตรัสถามพระสารีบุตรว่า  สารีบุตร  เธอเชื่อไหมว่าหลักความจริงเรื่องนั้น ๆ  เป็นอย่างนั้น ๆ  ”  พระสารีบุตรพูดตอบว่า  ข้าพระองค์ก็เห็นว่าเป็นอย่างนั้น”  ตรัสถามต่อไปว่า ที่เธอว่าอย่างนั้นเพราะเชื่อในเราใช่หรือไม่”  พระสารีบุตรทูลตอบว่า  หามิได้  ที่ว่าเป็นอย่างนั้น  มิใช่เพราะข้าพระองค์ว่าตามที่เชื่อต่อพระองค์  แต่เพราะว่าข้าพระองค์ก็ได้รู้ได้เห็นประจักษ์เองว่าเป็นอย่างนั้น๑๖
นี่คือหลักการในพุทธศาสนา  พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้ใครมาผูกติดอยู่กับพระองค์  หรือขึ้นต่อพระองค์เลย  แม้แต่ศรัทธาในตัวบุคคล  พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงโทษไว้  เพราะต้องการให้ทุกคนเป็นอิสระ
เป็นอันว่า  วิมุตติ  ที่เป็นจุดหมายของพุทธศาสนา  คือความเป็นอิสระ  จะสำเร็จได้ด้วยปัญญาคือการรู้ความจริง  แต่ปัญญานั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร  สำหรับบางคนผู้มีความคิดเป็น  ที่เรียกว่า  โยนิโสมนสิการ  ก็ไม่ต้องอาศัยศรัทธา  แต่คนส่วนใหญ่  ต้องอาศัยศรัทธา  เพื่อเป็นสื่อนำ  ให้มีจุดเริ่ม
เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นปัจจัยที่ส่งทอดไปตามกันว่า  วิมุตติ  เป็นจุดหมายบังคับให้ต้องมีปัญญา  ปัญญาที่เป็นตัวทำให้ถึงจุดหมายอาศัย  ศรัทธา  เป็นจุดเริ่มหรือเป็นสื่อนำให้  ก็เลยเป็น ๓ ขั้นตอน  คือ
ศรัทธา  à  ปัญญา  à  วิมุตติ
ในกระบวนการของการเข้าถึงความจริง  ศรัทธาเป็นตัวเริ่มต้นนำเข้าสู่ปัญญา  แล้วปัญญาก็เป็นตัวนำไปสู่วิมุตติ  ระบบปัจจัยสัมพันธ์อันนี้เป็นตัวกำหนดลักษณะของศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างที่ว่าแล้ว  เพราะศรัทธาสัมพันธ์กับปัญญาและวิมุตติ  ศรัทธานั้นจึงมี
ลักษณะที่ ๑  คือ  เป็นสื่อนำสู่ปัญญา
ลักษณะที่ ๒  คือ  พ่วงมากับความเป็นอิสระ
เพราะฉะนั้น  ศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงไม่เป็นศรัทธาแบบบังคับให้เชื่อ  ที่เชื่อแล้วห้ามถาม  ห้ามสงสัย  หรือเอาชีวิตของตนไปขึ้นต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะต้องถือมั่นว่าเป็นอย่างนั้น  โดยที่ถูกกำหนดมาตายตัวเสร็จสิ้นแล้ว  นี้เป็นการชี้แจงให้เข้าใจลักษณะทั่วไป
จะเห็นว่า  ทั้งพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ต่างก็มีศรัทธาชนิดสื่อนำสู่ปัญญาที่นับได้ว่าเหมือนกัน  คือใช้ศรัทธาเป็นจุดเริ่มนำไปสู่การแสวงหาความรู้ที่จะเข้าถึงความจริง  ทีนี้  ก็มีคำถามต่อไปอีกว่า  ศรัทธาอย่างไรที่จะเป็นสื่อนำไปสู่ปัญญา  หรือว่าศรัทธาที่เป็นสื่อนำสู่ปัญญานั้นเป็นอย่างไร จึงจะต้องมีการให้คำจำกัดความศรัทธานี้อีกทีหนึ่งว่า  ศรัทธาที่เป็นตัวนำสู่ปัญญานี้คืออะไร
ถ้าพูดโดยโยงไปหาหลักที่แสดงมาแล้วก็จะบอกว่า  ศรัทธาที่ว่านำไปสู่ปัญญานี้ก็คือความเชื่อมั่นในธรรมชาติหรือจักรวาลนี้  ว่ามีกฎเกณฑ์แห่งธรรมดาที่สม่ำเสมอแน่นอน  หมายถึงความเชื่อในกฎธรรมชาตินั่นเอง  พูดง่าย ๆ  ว่า  ความเชื่อในกฎธรรมชาติที่มนุษย์จะสามารถเข้าถึงได้ด้วยปัญญา
ความเชื่อหรือศรัทธานี้  เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราแสวงหาความจริง  แต่เพราะว่าตัวตัดสินหมายถึงการที่เราจะต้องรู้เข้าใจกฎธรรมชาติ  ศรัทธาจึงไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงจุดหมาย  จึงหยุดอยู่แค่ศรัทธาไม่ได้  ศรัทธานั้น  จึงต้องโยงส่งทอดต่อไปสู่ปัญญา  พอมาถึงตอนนี้ก็เหมือนกับว่าศรัทธาของพุทธศาสนากับศรัทธาของวิทยาศาสตร์เหมือนกัน  คือต่างก็มีศรัทธาที่เชื่อในกฎธรรมชาติ  และต่างก็มุ่งที่จะรู้ความจริงในกฎธรรมชาติด้วยวิธีการแห่งปัญญา  แต่ความเหมือนหรือคล้ายกันนั้น  อาจหยุดแค่นั้น  ต่อจากจุดนี้ไปศรัทธาของพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ดูท่าว่าจะแยกจากกัน  จะแยกกันอย่างไร  ฯลฯ
ศาสนาที่แท้เป็นฐานกำเนิดของวิทยาศาสตร์
ไม่เฉพาะความใฝ่รู้และศรัทธาที่บอกมาแล้วเท่านั้น  แม้แต่การค้นพบสำคัญที่เป็นความก้าวหน้ายิ่งใหญ่ของวิทยาศาสตร์ก็เริ่มมาจากในจิตใจของนักวิทยาศาสตร์  นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นจะมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า  ความหยั่งรู้  และเล็งเห็นในใจของตนขึ้นมาก่อน  ก่อนที่เขาจะเริ่มการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ  โดยมากในจิตใจจะมีความหยั่งรู้อะไรขึ้นมา  เขาเล็งเห็นอะไรบางอย่างขึ้นมาก่อน  และอันนี้เป็นจุดเริ่มที่ทำให้เขามีจุดตั้งต้นค้นคว้า  แล้วก็มีความมุ่งมั่นที่จะค้นคว้าต่อไป
ถ้าไม่มีความหยั่งรู้เล็งเห็นอันนี้แล้ว  วิทยาศาสตร์ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องเรื่อยเปื่อยไป  หรืออาจจะเรียกว่าสุ่มสี่สุ่มห้า  คือไม่รู้ว่าจะทำอะไร  ไม่มีจุดไม่มีเป้า  เพราะฉะนั้นในประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์จึงถือว่า  ความหยั่งรู้เล็งเห็นนี้เป็นตัวสำคัญ  ไม่ใช่มีแต่ความใฝ่รู้และศรัทธาเท่านั้น  คือในตัวนักวิทยาศาสตร์เองเมื่อจะค้นพบแต่ละเรื่อง ๆ  ที่สำคัญ  มักจะมีความหยั่งรู้และเล็งเห็นในใจนี้  ขึ้นมาก่อน  เป็นความคิดที่มองล่วงหน้าถึงความจริงที่นักวิทยาศาสตร์นั้นยังไม่รู้ซึ่งนำไปสู่การคิดใคร่ครวญ  การคิดเป็นระบบ  การคิดตั้งสมมุติฐาน  การทดสอบทดลอง  แล้วก็นำไปสู่การค้นพบและทฤษฎีใหม่ ๆ
ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ที่ได้มาทั้งหมดนั้นก็ด้วยอาศัยศรัทธา  ความเชื่อมั่น  ความใฝ่รู้  ความหยั่งรู้เล็งเห็น  เป็นต้น  เหล่านี้  และในจิตใจของนักวิทยาศาสตร์ที่แท้  ผู้สร้างความก้าวหน้ายิ่งใหญ่ให้แก่วิทยาศาสตร์ก็เต็มไปด้วยสภาพจิตที่เรียกว่าคุณค่าเหล่านี้
แม้แต่การสังเกตอะไร  ก็เริ่มจากความคิดตั้งจุดที่จะสังเกตให้ก่อน  แล้วความคิดจิตใจก็กำกับควบคุมการสังเกตตลอดเวลา  แม้แต่เรื่องของนิวตัน  ที่ว่าเห็นแอปเปิ้ลตกแล้วก็เกิดความหยั่งรู้เห็นกฎ  gravitation  ขึ้นมานี้  ตามเรื่องที่เราได้ยินคล้าย ๆ  ว่าแกเห็นตอนนั้น  ก็เกิดความหยั่งรู้ผุดขึ้นมาทันที  แต่ตามเรื่องที่เป็นจริง  ได้ทราบว่า  นิวตันคิดเรื่องเกี่ยวกับ  motion  นี้มาก่อนตั้งเป็นเดือน ๆ  แล้ว  มันเป็นกระบวนการของความคิดในจิตใจนั่นเอง  เหมือนอย่างเรานี่  บางทีกระบวนการของความคิดในจิตใจนั่นเอง  เหมือนอย่างเรานี่  บางทีคิดปัญหาอะไรอย่างหนึ่งไม่ตกสักที  คราวหนึ่งไปนั่งในที่เงียบ ๆ  สงบอยู่  วิธีหรือช่องทางแก้ปัญหาเรื่องนั้นก็สว่างโพลงโผล่ขึ้นมาได้เหมือนกัน  ซึ่งที่จริงมันก็เป็นกระบวนการทำงานของจิตอีกระดับหนึ่ง  ไม่ใช่หมายความว่ามันเกิดขึ้นมาลอย ๆ  มันต้องมีกระบวนการแห่งปัจจัยเหมือนกัน  เรียกว่า  เป็นกระบวนการทางจิต  หรือเป็นกระบวนการความคิด  อีกระดับหนึ่ง
ในตอนนี้เพื่อจะให้ผ่านไปก็พอสรุปได้ว่า  เรื่องจิตใจ  หรือคุณค่านี้  มันเป็นทั้งจุดเริ่มกำเนิดของวิทยาศาสตร์  ได้แก่  ความใฝ่รู้และศรัทธา  และเป็นตัวความสามารถที่ทำให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าพัฒนามาได้  เช่นความหยั่งรู้เล็งเห็น  แล้วก็เป็นจุดหมายที่วิทยาศาสตร์ยังไปไม่ถึง  คือ  ตัวจุดหมายปลายทางที่หยั่งเห็นอยู่ในใจนั้น  พร้อมทั้งความมุ่งมั่นฝันใฝ่  ซึ่งวิทยาศาสตร์ยังจะต้องก้าวต่อไป  แม้แต่การที่เราคิดจะหาความจริงพื้นฐาน  ก็เพราะเรานึกว่ามันมีความจริงพื้นฐานนั้นอยู่  ซึ่งก็เป็นเรื่องในใจ  ใจคิดขึ้นมา  มันจึงมีจุดที่จะไป  คิดไปหาเหตุผล  อันนี้ก็เป็นจุดสรุปอันหนึ่ง
พอมาถึงตอนนี้ก็จะบอกชื่อนักวิทยาศาสตร์ใหญ่ผู้เป็นเจ้าของความคิดที่ถือได้ว่าเป็นที่มาของหัวข้อปาฐกถานี้  เพราะมาถึงตอนนี้ก็ได้บอกแล้วว่าจุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์คืออะไร
คนที่ถือได้ว่าความคิดของเขา  หรือคำกล่าว  หรือถ้อยคำของเขาได้เป็นฐานให้แก่ชื่อของปาฐกถานี้  ก็คือ  ไอน์สไตน์นั่นเอง  แต่เขาไม่ได้พูดอย่างนี้ตรง ๆ  หรอก  อาตมาจับความเอามาอย่างนั้นเองให้สนใจ
ไอน์สไตน์ว่าอย่างไร  ไอน์สไตน์ก็ว่าเป็นตอน ๆ  ตอนหนึ่งแกบอกว่า
ในยุควัตถุนิยมของพวกเรานี้  ผู้ทำงานทางวิทยาศาสตร์ อย่างเอาจริงเอาจัง  เป็นคนจำพวกเดียวเท่านั้น  ที่มีศาสนาอย่างลึกซึ้ง ๒๘  (หรือจะใช้คำว่า เคร่งศาสนาก็แล้วแต่)
ไอน์สไตน์กลับไปเห็นว่า  ในยุคนี้หาคนที่มีศาสนายาก  มีนักวิทยาศาสตร์พวกเดียวเท่านั้นที่เป็นคนมีศาสนาอย่างจริงจัง  แต่ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานอย่างบริสุทธิ์ใจอย่างที่เรียกว่า  เป็นคนทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง  และแกบอกว่าต่อไปว่า 
 “วิทยาศาสตร์เกิดขึ้นได้  โดยเป็นการสร้างสรรค์ของ  คนที่เต็มเปี่ยมด้วยความใฝ่ปรารถนาต่อสัจจธรรมและปัญญา  ที่เข้าใจความจริง บุคคลที่เราเป็นหนี้ผลสำเร็จในทางสร้าง  สรรค์ที่ยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ทุกคนล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วย  ความเชื่อมั่นทางศาสนา (ศรัทธา)  อย่างแท้จริงว่า  สากลจักร  วาลของเรานี้  เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์และสามารถรับรู้ได้ด้วย  การแสวงหาความรู้อย่างมีเหตุผล๒๙
 อันนี้เขาเรียกว่าเป็นความรู้สึกหรือสำนึกทางศาสนา  กล่าวคือความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ  และความเชื่อว่าเบื้องหลังธรรมชาติมีกฎแห่งความเป็นจริงที่แน่นอนครอบคลุมทั่วสากล  อันนี้ไอน์สไตน์เรียกว่าเป็น  ความรู้สึกทางศาสนา”  หรือ  สำนึกทางศาสนา”  โดยเฉพาะเป็น  cosmic  religious  feeling  คือ  สำนึกทางศาสนาที่หยั่งโยงสรรพสิ่งทั่วสากล”  แล้วเขาก็บอกว่า
สำนึกทางศาสนาที่หยั่งโยงสรรพสิ่งทั่วสากลนี้  เป็น แรงจูงใจที่แรงกล้าและประเสริฐที่สุดสำหรับการค้นคว้าวิจัย ทางวิทยาศาสตร์ ๓๐
 ไอน์สไตน์ว่าอย่างนี้  แล้วอีกตอนหนึ่งแกบอกว่า
 “ พุทธศาสนา มีสภาวะที่เรียกว่า  cosmic  religious feeling  คือความรู้สึกหรือสำนึกทางศาสนาอันหยั่งโยงสรรพสิ่ง ทั่วสากลนี้อย่างเข้มข้น  หรือแรงกล้ามาก ๓๑
แกว่าอย่างนั้น  แกบอกว่า  พุทธศาสนามี  cosmic  religious  feeling  สูงมาก  และ  cosmic  religious  feeling  นี้  เป็นต้นกำเนิดของการคิดค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์  เพราะฉะนั้นก็ให้นึกเอาเองว่าจะตั้งเป็นชื่อเรื่องนี้ได้หรือเปล่า  ในที่นี้ก็เลยถือเอาพอเป็นนัย ๆ  ว่า  พุทธศาสนาเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ในแง่หนึ่งอย่างหนึ่ง
แต่อย่าถือเป็นสำคัญนักกับเรื่องที่ว่านี้  เพราะอาตมาเองก็ไม่ใช่เห็นด้วยเต็มที่กับไอน์สไตน์  แต่ที่ไม่เห็นด้วยไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด  เพียงแต่ไม่เห็นด้วยในแง่ที่ว่ามันยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ  คือมันเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นของความหมายของสำนึกทางศาสนา  เพราะในเรื่องของศาสนานั้นมันจะต้องโยงมาถึงตัวมนุษย์  ธรรมชาติภายในของความเป็นมนุษย์  และการที่ว่ามนุษย์จะพึงปฏิบัติต่อธรรมชาติทั้งภายนอกและภายใน  หรือต่อโลกและชีวิตอย่างไรด้วย  ในคำพูดของไอน์สไตน์นั้นอาตมาไม่เห็นชัดจะแจ้งลงไปว่าจะโยงมาสู่ความเข้าใจตัวเองของมนุษย์และประโยชน์ของมนุษย์ที่เราพูดในทางพุทธศาสนาว่า  จะต้องนำมาใช้แก้ปัญหาและพัฒนามนุษย์ได้
อย่างไรก็ตาม  จากคำพูดของไอน์สไตน์นั้นก็เห็นชัดว่า  แกมีความเห็นว่าวิทยาศาสตร์เริ่มจากความต้องการของมนุษย์ในจิตใจ  คือ  ความใฝ่รู้  และศรัทธาที่เชื่อในความจริงแห่งกฎธรรมชาติ
แต่ทีนี้  ในเมื่อเรื่องมาถึงขั้นนี้แล้ว  อาตมาก็บอกว่าไม่อยากให้ติดใจนักกับคำพูดที่ว่าพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์อะไรนั้น  แต่สิ่งที่อยากจะให้พิจารณาจะเป็นทำนองนี้  คือ  เราอาจจะเปลี่ยนชื่อเรื่องเสียใหม่  ให้เป็นไปในเชิงเป้าหมายว่า  วิทยาศาสตร์ที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน  ควรจะเป็นอย่างไร”  นี่เปลี่ยนชื่อเสียใหม่  แล้วเราก็อาจจะได้แนวความคิดที่ต่อยอดจากนี้ออกไป  เพราะถ้าเพียงแต่มาพูดว่า  พุทธศาสนาเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ก็ได้แต่พูดกันไป  อาจจะถูกหาว่าอวดด้วย  และก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเป็นแก่นสารมากนัก  แต่ถ้าบอกว่า  วิทยาศาสตร์ที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน  ควรจะเป็นอย่างไร”  ก็จะเป็นทางสร้างสรรค์  ให้เห็นอะไรที่จะทำกันได้ต่อไป  อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันเป็นเรื่องใหญ่  แต่อย่างน้อยตอนนี้ที่พอจะตอบได้  ก็เอาแค่ในเรื่องที่พูดมาแล้วนั่นแหละ  ซึ่งเหมือนกันมาสรุปทวนกันอีกว่า  อย่างน้อย
ขั้นที่ ๑  ต้องขยายความหมายของ  ศาสนา”  หรือ  ขยายความหมายของ  สำนึกทางศาสนา”  นี้ให้กว้างออกไป  ให้ตรงกับของพุทธศาสนา  คือ
ก)คำว่าสำนึกทางศาสนาที่หยั่งโยงสรรพสิ่งทั่วสากล  จะต้องครอบคลุมทั้งธรรมชาติภายนอก  และธรรมชาติภายใจคือตัวมนุษย์  หรือทั้งธรรมชาติที่เป็นรูปธรรมทั่วไป  และธรรมชาติด้านคุณค่าที่เป็นนามธรรม
ข)ที่ว่าวิทยาศาสตร์เกิดจากความใฝ่รู้ความจริงในธรรมชาตินั้น  จะต้องเสริมด้วยความใฝ่ปรารถนาในความดีงามสูงสุด  ที่พุทธศาสนาเรียกว่า  ความใฝ่ปรารถนาภาวะไร้ทุกข์ของมนุษย์ด้วย
ข้อ  ก)  เป็นการขยายขอบเขตหรือแดนแห่งความจริงของธรรมชาติที่จะเข้าถึง  ให้ครอบคลุมครบถ้วน  ส่วนข้อ  ข)  เป็นการเน้นย้ำคุณค่าที่สอดคล้องกลมกลืนกับคุณค่าสูงสุด  ซึ่งจะทำให้เกิดความบริสุทธิ์ชัดเจนแก่ความใฝ่ปรารถนาในความจริงนั้น  ปิดกั้นโอกาสไม่ให้คุณค่าแปลกปลอมเข้ามาแทรกแซงครอบงำ
พอเอามาบวกกันอย่างนี้แล้ว  ก็จะบอกได้ว่า  (วิทยาศาสตร์ที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน) เป็นวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาจากความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ  และความใฝ่ปรารถนาความดีงามสูงสุด  โดยเป็นไปพร้อมด้วยการพัฒนามนุษย์  (ให้สามารถแก้ปัญหาและเข้าถึงความจริงและความดีงามสูงสุดนั้น)หรือจะพูดทำนองนี้ก็ได้ว่า เป็นวิทยาศาสตร์ที่เกิดมาจากความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ และความใฝ่ปรารถนาที่จะเข้าถึงความดีงามสูงสุด  ซึ่งเป็นรากฐานของการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงาม
วิทยาศาสตร์ทำนองนี้  ก็เฉียด ๆ  ไปทางจะเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์  แต่ก็ไม่ใช่  ว่าในแง่หนึ่ง  วิทยาศาสตร์ธรรมชาติในยุคที่แล้วมาก็เกี่ยวกับแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังซึ่งเราเห็นว่าไม่ดี  เราจึงยกเอาอันนี้ขึ้นมา  เพื่อไปตัดค่านิยมซึ่งเป็นแรงจูงใจอีกแบบหนึ่ง  กล่าวคือความใฝ่พิชิตธรรมชาติ  และความใฝ่ปรารถนาในความมีวัตถุพรั่งพร้อมเพื่อสนองความเห็นแก่ตัวของมนุษย์  เราจะตัดอันนั้นออกไป  เลิกเสีย  แล้วก็แทนที่ด้วยความใฝ่ปรารถนาความไร้ทุกข์ของมนุษย์นี้เข้ามา
อาจจะพูดได้อีกสำนวนหนึ่งว่า  วิทยาศาสตร์ซึ่งเข้าถึงความจริงแท้ที่สมบูรณ์  จะเป็นการบรรจบแห่งสาระของวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์  และมนุษยศาสตร์ทั้งหมด  ทำให้ศาสตร์ทุกอย่างโยงถึงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว  พูดอีกอย่างหนึ่งว่า  ความจริงของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ด้วยการศึกษาของวิทยาศาสตร์  โดยที่วิทยาศาสตร์เองจะต้องขยายความหมายพื้นฐานและปรับปรุงวิธีการศึกษาของตนบ้าง
ที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเล่น ๆ  หรือลอย ๆ  เพราะปัจจุบันนี้  ไม่ว่าจะโดยความก้าวหน้าของวิทยาการทั้งหลายก็ดี  โดยความบีบบังคับของการพัฒนาที่ได้โยงมนุษย์และสังคมเข้ามาถึงธรรมชาติแล้วก็ดี  ทำให้มีความจำเป็นที่จะเข้าถึงเอกภาพในทางวิชาการหรือในกระบวนความรู้หรือการเข้าถึงความจริงของมนุษย์  พูดเป็นสำนวนว่า  ถึงภาวะสุกงอมแล้ว  ถ้าสุกงอมแล้วไม่จัดการให้ถูกต้องก็จะเน่า  นั่นคือความเสื่อมเสียและโทษภัยก็จะต้องเกิดขึ้น  เมื่อถึงเวลาเช่นนี้แล้ว  วิทยาศาสตร์จะรับทำหน้าที่นำมนุษย์เข้าสู่แกนร่วมสัมพันธ์ของวิทยาการนี้หรือไม่
ขั้นที่ ๒  ตามหลักการเกี่ยวกับความจริงที่เป็นประโยชน์  พึงจำแนกประเภทประเภทความรู้ในความจริงออกไปให้ชัดเจนเป็น ๒  พวก  คือ
ก)ความรู้ที่จำเป็น  หรือความจริงที่มีประโยชน์  คือที่จำเป็นสำหรับการที่จะมีชีวิตที่ดีงาม  ซึ่งมนุษย์แต่ละคนจะเข้าถึงได้ภายในช่วงเวลาแห่งชีวิตนี้ของตน
ข)ความรู้อย่างอื่นซึ่งไม่จำเป็น  หรือความจริงที่ไม่เป็นประโยชน์  ซึ่งเมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้  ก็พยายามพิสูจน์และรอพิสูจน์กันต่อไป  โดยที่การที่จะมีชีวิตที่ดีงาม  หรือการเข้าถึงความดีงามสูงสุดไม่ต้องขึ้นต่อมัน  และไม่ต้องรอคำตอบ
ดังได้กล่าวแล้วว่า  ชีวิตของมนุษย์แต่ละคนมีช่วงเวลาจำกัดและจะต้องสิ้นสุดลง  ความดีงามหรือคุณค่าสูงสุดเป็นสิ่งที่มนุษย์แต่ละคนควรจะเข้าถึงได้สำเร็จภายในช่วงเวลาที่จำกัดของชีวิตนั้นไม่อาจรอได้  ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มักจะมีลักษณะเหมือนกับบอกว่า  รอให้ฉันพิสูจน์เสร็จก่อน  แล้วคุณค่อยรู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร  วิทยาศาสตร์จะต้องปรับท่าทีใหม่  และแยกประเภทความรู้ในความจริงให้ชัดเจนอย่างที่กล่าวมานี้  และถ้าวิทยาศาสตร์จะทำหน้าที่เป็นศาสตร์ที่สมบูรณ์  ก็จะต้องปฏิบัติในเรื่องความรู้และความจริงสองประเภทนี้ให้ถูกต้อง  หรือถ้าวิทยาศาสตร์จะดำเนินไปตามวิถีทางอย่างเดิมก็คงจะต้องแบ่งหน้าที่โดยประสานกันกับพระพุทธศาสนา  โดยให้พุทธศาสนาจัดสรรคำตอบชนิดที่จำเป็นทันทีเพื่อเข้าถึงความดีงามสูงสุดในชาตินี้  และให้วิทยาศาสตร์ให้คำตอบเกี่ยวกับความจริงชนิดที่ว่า  ถ้าได้รู้เพิ่มมาก็ดี  แต่ถึงจะไม่ได้มาก็อยู่ดีได้  ไม่ต้องรอ