วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

ความผิดพลาดของตะวันตก

67 ปี พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พินิจธรรม เพื่อพัฒนาสังคมไทย

โดย ธนภณ สมหวัง





คงไม่เป็นการเกินเลยที่จะยอมรับในปัจจุบันว่า อารยธรรมของมนุษยชาติได้ก้าวมาสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างที่ไม่มียุคไหนเท่าเทียม

ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่า ไม่มียุคไหนที่มนุษย์จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสารพัดที่เกิดจากมนุษย์ด้วยกันเอง และที่เกิดจากธรรมชาติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

และคงไม่มียุคไหนที่มนุษย์จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างทั่วถึงกันเช่นกับยุคนี้

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาเท่าที่ผ่านมาและเป็นอยู่ เป็นการพัฒนาที่มีปัญหานอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเก่าได้แล้ว ยังได้สร้างปัญหาใหม่ๆ ให้แก่มวลมนุษย์อีกด้วย

จึงอาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนหรือเป็นการพัฒนาที่ยับเยิน เพราะเป็นการพัฒนาที่นำไปสู่ความไม่มั่นคงของมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม

ในวาระมงคลวารครบ 67 ปี ของพระพรหมคุณาภรณ์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (12 มกราคม) พระมหาเถระผู้เป็นพระนักปราชญ์ของไทย นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้พินิจธรรมของท่าน

โดยผู้เขียนได้เรียบเรียงจากผลงานของท่าน เพื่อเป็นข้อคิดในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง และพัฒนาสังคมสังคมไทย ก้าวไปสู่การสร้างสรรค์อารยธรรมที่ยั่งยืนสืบไป

อารยธรรมที่ผ่านมา คือ การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า โลกยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 นี้ โลกของเราได้พัฒนาก้าวไปไกลมาก โดยอาศัยความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของมนุษย์แทบทุกด้านอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ผลจากการพัฒนาดังกล่าวนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้มนุษย์มีความพรั่งพร้อม และความเป็นอยู่ในทางด้านเศรษฐกิจที่ดี ทำให้สามารถกระทำการต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

หากแต่ได้ทำให้ความฝันของมนุษย์กลายเป็นจริงในหลายๆ เรื่องๆ

พร้อมกับได้สร้างความฝันให้กับมนุษย์ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดอีกด้วย

ทั้งนี้ ก็เพราะศักยภาพแห่งความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ได้ไขความลี้ลับของโลกและธรรมชาติเสร็จสิ้นแล้ว

ในศตวรรษใหม่นี้จึงปรากฏว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของเทคโนโลยีทางด้านชีววิทยาและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถที่จะแยกตัวอะตอม(Atom) และถอดรหัสดีเอ็นเอ(DNA) ซึ่งเป็นตัวถ่ายทอดทางพันธุกรรม

ซึ่งนำไปสู่ความหวังและความเชื่อที่จะว่า จะสามารถแก้ปัญหาในโลกนี้ได้หลายอย่าง ทั้งปัญหาความขาดแคลนอาหาร พลังงานตลอดจนสามารถที่จะดัดแปลง ปรับปรุงพืชและสัตว์พันธุ์ต่างๆ รวมทั้งสามารถสร้างสรรค์ชีวิต พืชพันธุ์ชนิดใหม่ๆ ได้ตามที่ต้องการ

ผลแห่งการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาเพียงบางส่วนนั้น เป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน เพราะมนุษย์ในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็อยู่ในกระแสแห่งความเจริญดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ผลจากการพัฒนาในปัจจุบันทำให้โลกกำลังประสบกับภาวะวิกฤตในด้านต่างๆ อย่างมากมายชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเช่นกัน จนอาจนำไปสู่การล่มสลายของโลก

ทั้งนี้ เพราะวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแต่นำไปสู่ภาวะวิกฤตทั้งสิ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงเกิดขึ้นทั้งแก่มนุษย์ สังคม และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ "ความเจริญก้าวหน้าของอารยธรรมที่ผ่านมาทั้งหมดตลอดยุคสมัยใหม่ เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน" ประวัติศาสตร์แห่งอารยธรรมที่ผ่านมา จึงเป็นประวัติศาสตร์แห่งการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนนั่นเอง

พินิจพุทธธรรมเพื่อพัฒนาสังคมไทยสู่ความยั่งยืน

เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว จะพบว่าการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าดังกล่าวมานั้นก็คือ การพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าตามแบบอย่างตะวันตก และมักจะหมายถึงการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านวัตถุตามแบบอย่างตะวันตก

หรือกล่าวให้ชัดเจนก็คือ การพัฒนาให้มีความทันสมัยตามแนวทางของประเทศตะวันตก ซึ่งวางรากฐานอยู่บนการเร่งรัดและพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งได้เข้ามาครอบงำการวางนโยบายของประเทศในโลกที่สาม รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ความพยายามในการแก้ไขปัญหา จึงเป็นไปตามแนวทางของตะวันตกด้วย

นั่นคือ การอาศัยความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เหมือนกับว่า วิทยาศาสตร์นั้นต้องเรียนผูกและเรียนแก้ในตัวเองเสร็จ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่า ต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาการพัฒนาในปัจจุบันนั้น มาจากทัศนคติของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนมนุษย์ สังคม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทัศนคตินี้ได้นำไปสู่การปฏิบัติการต่อสิ่งอื่นๆ ตามพื้นฐานทางด้านความรู้และทัศนคติที่มีต่อสิ่งอื่นๆ ดังกล่าวนั้นเป็นสำคัญ คือเน้นความเจริญเติบโตทางด้านวัตถุและเศรษฐกิจเป็นสำคัญ มองธรรมชาติและมนุษย์เป็นเพียงเครื่องจักรกลในโรงงานอุตสาหกรรม

พระพรหมคุณาภรณ์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้นำเสนอกระบวนทัศน์แบบพุทธ (Buddhist Paradigm) อันเป็นแนวคิดพื้นฐานแบบใหม่ที่เป็นทางเลือกของมนุษยชาติ เพราะเป็นกระบวนทัศน์ที่จะช่วยปรับเปลี่ยนทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่ปัจจุบันแยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติหรือเน้นการพิชิตและครอบครองธรรมชาติ มาสู่การมองความจริงของสรรพสิ่งใหม่ว่า สรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงอิงอาศัยกันและกันเป็นองค์รวม(Holistic) ตามหลักปฏิจจสมุปบาท(Dependent Origination) ไม่มีอะไรที่จะดำรงอยู่ได้โดยไม่พึ่งพิงสิ่งอื่น

ในสังคมไทยเอง ในรอบ 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่มีการเร่งรัดและพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจไปตามแนวโน้มของประเทศตะวันตก ได้ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานต่อวิถีชีวิตของคนไทยทั่วไป ยิ่งในยุคปัจจุบันที่โลกกว้างไกลไร้พรมแดนจนกลายเป็นชุมชน หรือเหมือนเป็นหมู่บ้านอันเดียวกัน แทนที่ผู้คนในสังคมจะอยู่ร่วมกันด้วยดี โดยความสงบเรียบร้อยและปกติสุข แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปกลับปรากฏในทางตรงกันข้ามและดูจะรุนแรงกว่าเดิมด้วยซ้ำไป

ผู้คนในยุคใหม่ยังมีจิตใจที่คับแคบ ต่างฝ่ายต่างแบ่งแยกและแก่งแย่งกันมากขึ้น แต่ละฝ่ายต่างมุ่งหาผลประโยชน์ให้แก่ตนและพรรคพวก มุ่งรักษาและเสริมอำนาจความยิ่งใหญ่ของตน ทะเลาะวิวาทกันและทำร้ายกันอย่างรุนแรงทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศชาติ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "โลกสากล แต่คนยิ่งสากรรจ์"

พระพรหมคุณาภรณ์ ได้วิเคราะห์วิจารณ์อารยธรรมตะวันตกทั้งหมดที่เป็นเสมือนหนึ่งตัวแทนอารยธรรมของโลกในปัจจุบัน ลึกลงไปถึงฐานแนวคิดที่รองรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันว่า มีรากฐานมาจากแนวความคิด ทัศนคติและค่านิยมที่ผิดพลาดของประเทศตะวันตกที่ครอบงำโลกอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีรากฐานมาจากอารยธรรมกรีก อันเป็นพื้นฐานอารยธรรมตะวันตกที่สำคัญ 2 ประการคือ

ประการแรก แนวความคิดในการพิชิตธรรมชาติ หรือความเชื่อที่ว่า ความสำเร็จของมนุษย์อยู่ที่การพิชิตหรือเอาชนะธรรมชาติได้ แนวความคิดนี้ก็คือ การมองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติแวดล้อม และเมื่อมองมนุษย์ว่าเป็นต่างหากจากธรรมชาติแล้ว ก็มองต่อไปว่า มนุษย์นั้นอยู่เหนือธรรมชาติ เป็นนาย เป็นผู้พิชิต เป็นผู้สามารถเข้าไปจัดการ ควบคุมและบริโภคธรรมชาติได้ตามความพอใจ และความสามารถของตน ซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ที่ทำให้โลกมีความเจริญก้าวหน้าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประการที่สอง ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การมีวัตถุปรนเปรอ อันเป็นแนวคิดที่พ่วงมากับการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งต่อมาแนวความคิดนี้ก็พัฒนามาเป็นวัตถุนิยมและแปรเป็นบริโภคนิยมในที่สุด

"มนุษย์ก็คิดว่า เมื่อไรเราเอาชนะธรรมชาติได้ เราก็สามารถที่จะปรุงแต่งประดิษฐ์สร้างสรรค์วัตถุ อะไรต่างๆ ขึ้นมาบำรุงบำเรอตนให้พรั่งพร้อม เมื่อนั้นเราก็จะมีความสุขอย่างสมบูรณ์ แล้วก็ค้นคิด วิทยาการมาทำการต่างๆ ตามแนวคิดนี้ความเจริญก็เกิดขึ้นมากมายในยุคที่ผ่านมา ซึ่งเรียกกันว่า ยุคอุตสาหกรรม...วิทยาศาสตร์ในยุคที่ผ่านมานี้ เป็นวิทยาศาสตร์ที่รับใช้อุตสาหกรรม"

ทั้งนี้แม้ว่าแต่เดิมนั้น วิทยาศาสตร์เองก็มีจุดเริ่มต้นที่ดี บริสุทธิ์ โดยวิทยาศาสตร์และศาสนานั้น ก็มีจุดเริ่มร่วมกันคือ การแสวงหาหรือการใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติอย่างบริสุทธิ์

แต่การที่วิทยาศาสตร์มุ่งแต่จะรวบรวมข้อมูลและพยายามที่จะพิสูจน์หาความจริง ทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นระบบสืบสาวความรู้ในความจริงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจำกัดอยู่ในกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจพิเศษเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้นก็คือ วิทยาศาสตร์สนใจเฉพาะความจริงทางด้านวัตถุ ไม่ได้สนใจในด้านจิตใจ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของมนุษย์ ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาในปัจจุบัน

ดังนั้น ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงมีสาเหตุสำคัญมาแต่ภายในจิตใจของมนุษย์ ทำให้มนุษย์แสดงบทบาทต่างๆ ในโลก มีสาเหตุ 3 ประการ คือ

1. ตัณหา คือ ความต้องการผลประโยชน์ แสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งเป็นลักษณะปัญหาสำคัญในปัจจุบันที่ทำให้ระบบของสังคมเป็นตัวผลักดันให้คนมีสภาพจิตที่แสวงหาผลประโยชน์ ใช้ระบบแข่งขันระบบทุนนิยม ระบบวัตถุนิยม และทำให้สังคมในปัจจุบันนี้ กลายเป็นสังคมบริโภคนิยม คนในยุคปัจจุบันจึงต้องมุ่งหาผลประโยชน์ และหาวัตถุมาเสพให้มากที่สุดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม

2. มานะ ความต้องการอำนาจหรือแสวงหาความยิ่งใหญ่ในด้านต่างๆ

3. ทิฏฐิ ความเชื่อ ความเห็น ความยึดถือในแนวความคิด ลัทธินิยม อุดมการณ์ ศาสนา มองว่าสิ่งที่ตัวเองเห็นหรือยึดถือเท่านั้นเป็นจริง ถูกต้อง

ในสังคมไทยจะเห็นได้ว่า เมื่อวิทยาการและศาสตร์ต่างๆ ที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เริ่มไหลบ่าเข้ามาสู่สังคมไทยนั้น มีข้อที่แตกต่างไปจากแหล่งกำเนิดเดิมในประเทศตะวันตกมาก ที่เกิดมาจากภูมิหลังของสังคมและวัฒนธรรมที่ต้องเพียรพยายามที่จะแก้ไขปัญหาความขาดแคลน ต่อสู้สร้างสรรค์เพื่อให้เกิดผลผลิตต่างๆ ขึ้น จนทำให้เกิดระบบอุตสาหกรรมขึ้นมา

ทั้งนี้ จะเห็นว่า โดยรากศัพท์แล้ว อุตสาหะ หรือ Industry ในภาษาอังกฤษ แปลว่า ความขยันหมั่นเพียร ความอดทน อุตสาหะพากเพียร อันเป็นความหมายที่แท้จริง เพราะถ้าหากไม่ขยันหมั่นเพียรแล้ว ตะวันตกก็ไม่สามารถที่จะสร้างอุตสาหกรรมได้สำเร็จ วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมนี้ จึงมีส่วนในการสร้างพื้นฐานให้คนในสังคมตะวันตกมีข้อได้เปรียบในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพร้อมกับสภาพจิตใจที่มีความใฝ่รู้และสู้สิ่งยาก คนตะวันตกจึงมีจิตใจแบบวิทยาศาสตร์และได้พัฒนาเทคโนโลยีมาพร้อมกับวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ คือ "การที่บุคคลมีลักษณะจิตใจแบบใฝ่รู้ ชอบเหตุผล ชอบพิสูจน์ ทดลองไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ" นั่นเอง

ในขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมที่มีพื้นฐานแห่งความอุดมสมบูรณ์ มีภูมิอากาศภูมิประเทศที่อยู่สบาย ดังคติที่แสดงภูมิลักษณ์ของไทย คือ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ดังนั้น จึงไม่ต้องดิ้นรนต่อสู้หรือขยันหมั่นเพียรก็มีอยู่มีกิน และเมื่อเงื่อนไขต่างๆ เปลี่ยนไป วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามา คนไทยมีก้าวไปสู่การเป็นนักบริโภคที่ไม่มีความสามารถในการผลิต ความสัมพันธ์ของคนไทยกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีปัญหามีสำคัญอยู่ 2 ประการ

ประการแรก สังคมไทยไม่มีพื้นฐานวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ คือ คนไทยขาดวิถีชีวิตจิตใจที่ชอบใฝ่รู้ ชอบเหตุผล ไม่เชื่อง่าย ไม่หลงงมงาย ชอบค้นคว้า ชอบพิสูจน์ทดลอง และชอบวิเคราะห์สืบสาวหาเหตุปัจจุบันหรืออาจจะเรียกว่า ขาดความใฝ่รู้

ประการที่สอง สังคมไทยไม่มีพื้นฐานวัฒนธรรมอุตสาหกรรมหรือวัฒนธรรมแห่งการสร้างสรรค์ สังคมไทยไม่มีฐานแห่งการเป็นนักผลิต ทั้งนี้ก็เพราะว่าสังคมไทยมีภูมิหลังของชีวิตที่สุขสบาย ถือคติว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ธรรมชาติอำนวย มีความอุดมสมบูรณ์ จึงไม่ต้องดิ้นรนต่อสู้หรือสร้างสรรค์สิ่งใดๆ

และยิ่งเมื่อรับเทคโนโลยีที่คนอื่นผลิตแล้วเข้ามา ก็ยิ่งส่งเสริมการเสพบริโภคมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่ความเป็นคนมักง่ายขาดความเพียรพยายาม เห็นแก่ความสนุกสนานและสะดวกสบาย หรืออาจจะเรียกว่า ขาดความสู้สิ่งยาก

ลักษณะดังกล่าวนี้ จึงเป็นปัญหาพื้นฐานสำหรับสังคมไทย การที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยได้นั้นคนไทยจะต้องมีวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่ง ที่ก้าวจากวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่ยังมีข้อบกพร่อง ไม่สมบูรณ์อยู่

นั่นคือ จะต้องรื้อฟื้นวัฒนธรรมพุทธศาสนาซึ่งเป็นรากฐานของสังคมไทยขึ้นมา ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ เป็นวัฒนธรรมแห่งการที่ต้องรู้หรือวัฒนธรรมแห่งปัญหาความใฝ่รู้ และเป็นวัฒนธรรมแห่งการที่ต้องทำหรือพึ่งตนและทำตนให้เป็นที่พึ่งได้

ดังที่ท่านเสนอว่า

"วัฒนธรรมพุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมแห่งความใฝ่รู้ และสู้สิ่งยากอย่างมั่นคง... วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ยังไม่พอ เพราะอะไร เพราะแม้ว่าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์จะสร้างความใฝ่รู้ มีนิสัยแห่งความคิดมีเหตุมีผล และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมจะช่วยให้สู้สิ่งยากก็จริง แต่เรื่องหนึ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่เคยพูดถึง คือ การพัฒนาคน วัฒนธรรมพุทธนั้นถือการพัฒนาคนเป็นหัวใจหรือแกนกลางของทุกอย่าง... เพื่อให้มนุษย์มีอิสรภาพ... วิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมายังมีความคับแคบ เพราะมุ่งสนองความมุ่งหมายใฝ่ฝันที่จะพิชิตธรรมชาติ(ภายนอก) และมาประสานรับใช้สนองความมุ่งหมายของวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งอยู่บนฐานแห่งความเชื่อที่ว่า ความสุขอยู่ที่การมีวัตถุเสพบริโภคอย่างพรั่งพร้อม ยิ่งเสพมากก็ยิ่งสุขมาก... วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์จึงไม่สัมพันธ์กับเรื่องของการพัฒนาคนไปสู่อิสรภาพ ด้วยเหตุนี้จึงจะต้องให้มีวัฒนธรรมพุทธเติมเข้ามา เพื่อที่จะสร้างความใฝ่รู้สู้สิ่งยาก พร้อมทั้งให้มีการพัฒนาคนไปสู่อิสรภาพ และการพัฒนาคนนั้นก็จะทำให้เทคโนโลยีไม่เป็นพิษเป็นภัยอีกด้วย"

สิ่งที่ท้าทายการพัฒนาสังคมไทยในปัจจุบัน ในทรรศนะของท่านจึงอยู่ที่การพัฒนาศักยภาพในการพึ่งตนเองเป็นสำคัญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น